วันพุธที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2552

เลือกให้ดี เลือกให้เป็นหลักสูตรนานาชาติ


การเข้าเรียนในระดับอุดมศึกษามีหลายทางเลือกให้นักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 หรือผู้มีวุฒิเทียบเท่าได้เลือกสอบเข้าเรียน ทั้งสอบตรงเข้าคณะในมหาวิทยาลัยที่อยากเรียน หรือสอบแอดมิชชัน อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นการสอบแบบใด หนึ่งในนั้นจะมีหลักสูตรภาษาอังกฤษ หรือหลักสูตรนานาชาติ ซึ่งนักเรียนที่สนใจอยากที่จะเข้าเรียนในวิชาที่เป็นภาษาอังกฤษนั้น บางรายยังสงสัยว่าจะรู้ได้อย่างไรว่าหากเข้าเรียนแล้วจะคุ้มค่ากับเงินที่จ่ายไป



บรรยากาศการเรียนการสอนในเอสไอไอที


ศ.ดร.จริยา รัตนะรัต บรอคเคลแมน รักษาการผู้อำนวยการวิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยมหิดล ให้ข้อมูลถึงวิธีการเลือกเข้าศึกษาต่อในหลักสูตรนานาชาติว่า ตัวเด็กต้องดูตัวเองก่อนว่าต้องการอะไร หากต้องการเพียงใบปริญญาระบุว่าจบหลักสูตรนานาชาติ จะเรียนที่ไหนก็ได้

“ยกตัวอย่างเช่นคณะบริหารก็เปิดสอนเป็นหลักสูตรภาษาไทยมาก่อนแล้ว และต่อมาก็เปิดเป็นภาคภาษาอังกฤษเขาก็ใช้อาจารย์ที่สอนหลักสูตรภาษาไทยนั่นล่ะมาสอน แต่สอนเป็นภาษาอังกฤษ หากเขาเชิญอาจารย์ไม่ประจำมาสอน คือเป็นผู้มีประสบการณ์มาสอน ตัวนักศึกษาก็ได้ความรู้ทางวิชาชีพมาด้วย
แต่สิ่งที่ขาดไปคือสิ่งที่เด็กจะได้เรียนรู้ได้ด้วยตัวเอง วิเคราะห์ได้ เขาได้เรียนรู้จากสิ่งแวดล้อมแบบไหน”

ในประเด็นที่หลายสถาบันการศึกษาเปิดหลักสูตรนานาชาติขึ้นมาเป็นจำนวนมาก ส่งผลให้ผู้ที่สนใจเข้าศึกษาเกิดความสับสนว่าควรจะเลือกเรียนในสถาบันการศึกษาใด ถึงจะคุ้มค่ากับค่าใช้จ่าย

ดร.สวัสดิ์ ตันตระรัตน์ ผู้อำนวยการสถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร (เอสไอไอที) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่าปัจจุบันมีสถาบันการศึกษาหลายแห่งที่เปิดหลักสูตรนานาชาติทั้งๆ ที่ยังไม่มีความพร้อมกัน และบางแห่งมีหลักสูตรปกติซึ่งสอนเป็นภาษาไทยอยู่แล้วก็ไปเปิดสอนเป็นภาษาอังกฤษแล้วไปเรียกว่าเป็นหลักสูตรนานาชาติ ซึ่งในความเป็นจริงแล้วควรเรียกว่าเป็นหลักสูตรภาษาอังกฤษมากกว่า

“หลักสูตรนานาชาติที่ดีในมุมของผมนี่ ต้องมีอาจารย์พร้อมสำหรับบริหารจัดการการเรียนการสอน ต้องมาดูแลตรงนี้โดยตรงเลย ไม่ใช่ว่าเป็นอาจารย์ประจำหลักสูตรภาษาไทยแล้วมาบริหารการเรียนการสอนหลักสูตรนานาชาติ ทำเหมือนกับว่าหลักสูตรนานาชาติเป็นพาร์ตไทม์ ซึ่งหลายๆ แห่งที่สอนวิศวกรรมศาสตร์ก็ทำแบบนี้

นี่คือสาเหตุที่ผมคิดว่าทาง สกอ. (สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา)น่าจะมีเกณฑ์ในการเปิดเป็นหลักสูตรนานาชาติขึ้นมา แม้แต่หลักสูตรภาษาอังกฤษก็น่าจะมีเกณฑ์อะไรบ้างถึงจะยอมให้เปิดได้ ไม่ใช่คนอยากเปิดก็เปิดได้ทั้งหมดเลย หรือหลักสูตรนานาชาติ จะต่างกับหลักสูตรภาษาอังกฤษอย่างไรบ้างก็ต้องมีเกณฑ์ที่ชัดเจนออกมา”



ศ.ดร.จริยา รัตนะรัต บรอคเคลแมน รักษาการผู้อำนวยการวิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยมหิดล


ส่วนเรื่องค่าหน่วยกิตในการเรียนการสอนหลักสูตรนานาชาติซึ่งสูงกว่าหลักสูตรภาษาไทยนั้น ดร.สวัสดิ์กล่าวว่า หากมีการจัดการเรียนการสอนดีอย่างแท้จริงแล้ว ในเรื่องของเนื้อหาทางวิชาการก็ไม่แตกต่างกัน และผู้เรียนก็มีทักษะในการใช้ภาษาอังกฤษมากกว่า

“สิ่งที่ได้แตกต่างกันระหว่างเรียนที่ต่างประเทศกับเรียนหลักสูตรนานาชาติในประเทศไทย น่าจะเป็นเรื่องของการเรียนรู้ทางวัฒนธรรม แน่นอนว่าไปเรียนที่ต่างประเทศผู้เรียนอยู่กับสิ่งแวดล้อมแบบนั้นก็ได้เรียนรู้วัฒนธรรมแบบประเทศที่ไปเรียนอยู่ด้วย แต่เรื่องวิชาการก็อย่างที่บอกล่ะว่าถ้าเรียนที่ที่ได้มาตรฐานแล้วไม่ต่างกัน

อย่างตอนนี้ไปเรียนที่อเมริกาผมคิดว่าไม่ต่ำกว่าหนึ่งล้านต่อปี แต่ถ้าเรียนในเมืองไทยก็ประมาณ 2 – 3 แสนต่อปี ตรงนี้เป็นอีกองค์ประกอบหนึ่งในการเลือกว่าคุ้มไหมที่จะไปเรียนต่างประเทศ และได้เรียนรู้วัฒนธรรมซึ่งเป็นประสบการณ์ที่ได้กลับมาของผู้เรียน”

ในเรื่องค่าใช้จ่ายที่สุงกว่าหลักสูตรภาษาไทยนั้น ศ.ดร.จริยา ยกตัวอย่างการทำก๋วยเตี๋ยวหนึ่งชามว่า ก๋วยเตี๋ยวหนึ่งชามประกอบด้วยเส้น ผัก และเครื่องประกอบอื่นจะเป็นไก่ เป็นหมู หรืออะไรก็แล้วแต่คนปรุง ซึ่งราคาไม่สูง แต่ถ้าจะทานก๋วยเตี๋ยวราดหน้าปลากะพงก็มีราคาสูง

“ถึงแม้จะเป็นก๋วยเตี๋ยวชนิดเดียวกัน อยู่ที่คนปรุงอีกล่ะว่าใช้วัตถุดิบอย่างไร ใช้ผักปลอดสารพิษหรือเปล่า ใช้หมูปราศจากสารเร่งเนื้อแดงหรือไม่ ซึ่งหากไม่ใช้ของมีคุณภาพเช่นนี้ก็ได้ก๋วยเตี๋ยวหน้าตาเหมือนกัน แต่ผลที่ตามมาจะเป็นอย่างไรก็เกิดจากวัตถุดิบทั้งนั้น เช่นเดียวกันค่าเล่าเรียนหากไปเรียนที่ต่างประเทศอย่างไปที่อเมริกาเดี๋ยวนี้คิดว่าเกิน 36,000 เหรียญต่อปีแล้ว ถ้าเลือกที่เรียนที่มีคุณภาพจริงๆ ในประเทศไทยก็ใช้ค่าใช้จ่ายน้อยกว่า”

ทั้งนี้การเรียนการสอนแบบหลักสูตรนานาชาตินั้น ศ.ดร.จริยากล่าวว่าจะไม่ใช่การเรียนแบบท่องจำ จะเป็นการเรียนการสอนแบบเรียนให้เข้าใจแล้วสามารถนำมาวิเคราะห์ได้ด้วยตัวเอง

“นศ.ที่มาเรียนในปีแรกจะต้องปรับตัว ถ้ามาจากรร.ไทยๆ ต้องปรับตัวมาก จากการท่องจำเป็นการทำความเข้าใจ เพราะการวัดผลไม่ได้วัดผลจากการท่องจำ แต่เป็นการวัดผลจากความเข้าใจ เพื่อให้นักศึกษาที่จบใหม่มาต้องคิดเป็น วิเคราะห์เป็น คิดใหม่เป็น ถ้าคุณท่องจำ พอคุณได้ปริญญาไปแล้วคุณก็ลืม นี่คือสิ่งที่ผู้ใหญ่พูดกันว่าเหมือนอัดอาหารเข้าไปแล้วคายออกมา ยังไม่ได้ย่อยเลย แล้วก็ลืม อาหารที่อัดเข้าไปไม่ได้เป็นประโยชน์ต่อร่างกายเลย ไม่ได้ไปเป็นอาหารสมอง”



ดร.สวัสดิ์ ตันตระรัตน์ ผู้อำนวยการสถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร (เอสไอไอที) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์


ดร.สวัสดิ์กล่าวถึงเรื่องภาษาอังกฤษที่ใช้ในการเรียนนั้น ทุกสถาบันการศึกษาน่าจะมีหลักเหมือนกันในการคัดเลือกผู้เรียนเข้าศึกษา คือผู้ที่จะเข้าเรียนในหลักสูตรนานาชาติหรือภาคภาษาอังกฤษควรมีพื้นฐานภาษาอังกฤษอยู่บ้าง

“พื้นฐานภาษาอังกฤษนี่เอาแค่เพียงพอหรือพอเพียงที่จะเข้าเรียนได้ก็พอแล้ว พอเพียงคือพอที่จะฟังได้รู้เรื่อง คือฟังแล้วเข้าใจ แม้ว่าจะเรียนโรงเรียนไทยมาก็ตามก็ไม่จำเป็นว่าจะต้องพูดภาษาอังกฤษได้แบบคล่องเปรี๊ยะ เหมือนผู้ที่เรียนโรงเรียนนานาชาติมา แต่ก็ต้องพอฟังได้รู้เรื่อง และเมื่อเข้ามาเรียนแล้วต้องขยันฝึกฝนอย่างต่อเนื่อง ในระยะเวลา 4 ปีที่เรียนก็สามารถที่จะจบการศึกษาได้และภาษาก็จะดีไปด้วย”

ด้าน พรรัมภา ตลึงจิตร อดีตนักศึกษาคณะเศรษฐศาสตร์ (ภาคอินเตอร์) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่าตัวเธอเองนั้นมีโอกาสได้งานทำก่อนใครๆ ที่เรียนมาพร้อมๆ กันด้วย 2 เหตุผล เหตุผลแรกก็คือการพยายามค้นหาตัวเองให้เจอก่อนว่าชอบงานอะไร และเมื่อค้นพบแล้วก็ต้องอดทนทำงานไปก่อนเพื่อที่จะเรียนรู้ระบบการทำงาน

“จบมาได้ประมาณสองปีแล้ว ก็เปลี่ยนงานมา 3 ที่แล้วค่ะ ตอนนี้ก็ได้ทำงานเป็น Regional Consultant ในบริษัทแห่งหนึ่ง ซึ่งเป็นงานที่ตัวเองชอบแล้วก็ได้ใช้ภาษาด้วย ต้องบอกว่าตัวเองถือว่าได้งานเร็วนะหลังจากเรียนจบ เพราะพยายามหางานอย่างที่ตัวเองชอบจริงๆ

ตัวเองชอบภาษาก็เลือกงานที่ใช้ภาษา ตอนที่ได้งานทำส่วนหนึ่งก็เพราะว่าตัวเองพูดภาษาอังกฤษได้ อย่างตอนที่ไปสัมภาษณ์งาน คนที่สัมภาษณ์ก็บอกว่าโอกาสที่เราจะได้งานมีสูงกว่าคนอื่นเพราะว่าเราพูดภาษาได้ และเข้าใจในภาษาที่เขาสื่อสารด้วย

ต้องบอกว่าดีที่ตอนเลือกเรียน ตัวเองเลือกที่จะเรียนคณะเศรษฐศาสตร์ภาคอินเตอร์ เพราะนอกจากจะได้เรียนรู้เรื่องเศรษฐศาสตร์แล้ว ก็ได้ภาษาด้วย ทำให้พอเรียนจบมาได้งานง่ายกว่าคนอื่นๆ”




ที่มา ASTVผู้จัดการออนไลน์

ไม่มีความคิดเห็น: