วันเสาร์ที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551

นางนพมาศ



วันเพ็ญเดือนสิบสอง น้ำนองเต็มตลิ่ง เราทั้งหลายชายหญิง สนุกกันจริง วันลอยกระทง ลอย ลอยกระทง ลอย ลอยกระทง อะแฮ่มๆ แหม...ใกล้จะถึงวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 หรือเรียกง่ายๆ ว่า เทศกาลสำคัญหนึ่งของคนไทยแล้ว มันก็ต้องคึกคักกันหน่อย (จริงป่ะ) แต่นอกจากการลอยกระทงเพื่อขอขมาพระแม่คงคาแล้ว ยังมีการเล่นดอกไม้ไฟ พลุ หรือการแสดงต่างๆ อีกมากมาย ที่สำคัญยังมีการประกวดสาวงามหรือ "วันลอยกระทง""ประกวดนางนพมาศ" อีกด้วย อะๆ หลายคนอาจสงสัยว่านางนพมาศคือใคร มีที่ไปที่มาอย่างไร แล้วทำไมต้องเรียว่านางนพมาศ เอาเป็นว่าเราไปความรู้จักกับ "ประวัตินางนพมาศ" กันดีกว่าค่ะ...

นางนพมาศ หรือ เรวดี นพมาศ เกิดในรัชกาลพญาเลอไท กษัตริย์ที่ 4 แห่งราชวงศ์พระร่วง บิดาเป็นพราหมณ์ชื่อ โชติรัตน์ มีราชทินนามว่า พระศรีมโหสถ รับราชการในตำแหน่งปุโรหิต มารดาชื่อ เรวดี ภายหลังนางนพมาศได้ถวายตัวเข้าทำราชการในราชสำนักสมเด็จพระร่วงเจ้า สันนิษฐานว่ารับราชการในแผ่นดินพระมหาธรรมราชาที่ 1 (ลิไท) จนกระทั่งได้รับตำแหน่ง "ท้าวศรีจุฬาลักษณ์" พระสนมเอก

นางนพมาศได้ทำคุณงามความดีเป็นที่โปรดปรานของพระร่วงในกาลต่อมา ที่สำคัญๆ มีอยู่ 3 ครั้ง

ครั้งที่ 1 เข้าไปถวายตัวอยู่ในวังได้ห้าวัน ก็ถึงพระราชพิธีจองเปรียงลอยพระประทีป (ลอยกระทง) นางได้คิดประดิษฐ์โคมลอยรูปดอกกระมุท (ดอกบัว) มีนกเกาะดอกไม้สีสวยๆ ต่างๆ กัน เป็นที่โปรดปรานของพระร่วงมาก

ครั้งที่ 2 ในเดือนห้ามีพิธีคเชนทร์ศวสนาน เป็นพิธีชุมนุมข้าราชการทุกหัวเมือง มีเจ้าประเทศราชขึ้นเฝ้าถวายเครื่องราชบรรณาการด้วย ในพิธีนี้พระเจ้าแผ่นดินทรงรับแขกด้วยเครื่องหมากพลู นางนพมาศได้คิดประดิษฐ์พานหมากสองชั้นร้อยกรองด้วยดอกไม้งดงาม พระร่วงทรงโปรดปรานและรับสั่งว่า ต่อไปผู้ใดจะทำการมงคลก็ดี รับแขกก็ดี ให้ใช้พานหมากรูปดังนางนพมาศประดิษฐ์ขึ้น ซี่งเป็นต้นเหตุของพานขันหมากเวลาแต่งงาน ซึ่งยังคงใช้จนถึงปัจจุบัน

ครั้งที่ 3 นางได้ประดิษฐ์พนมดอกไม้ถวายพระร่วงเจ้าเพื่อใช้บูชาพระรัตนตรัย พระร่วงทรงพอพระทัยในความคิดนั้น ตรัสว่าแต่นี้ต่อไปเวลามีพิธีเข้าพรรษาจะต้องบูชาด้วยพนมดอกไม้กอบัวนี้

นางนพมาศเป็นบุคคลที่ฉลาดถ่อมตัวเป็นอย่างยิ่ง จนได้สมญาว่า "กวีหญิงคนแรกของไทย" ดังเช่นที่เขียนไว้ว่า "ทั้งเป็นสตรี สติปัญญาก็น้อยกว่าบุรุษ แล้วก็ยังอ่อนหย่อนอายุ กำลังจะรักรูปและแต่งกาย ซึ่งอุตสาหะพากเพียร กล่าวเป็นทำเนียบไว้ ทั้งนี้เพื่อหวังจะให้สตรีอันมีประเภทเสมอด้วยตน พึงให้ทราบว่าข้าน้อยนพมาศ กระทำราชกิจในสมเด็จพระร่วยงเจ้ากรุงมหานครสุโขทัย ตั้งจิตคิดสิ่งซึ่งเป็นการควรกับเหตุ ถูกต้องพระราชอัชฌาสัยพระเจ้าอยู่หัว ก็ได้ปรากฎชื่อแสียงว่าเป็นสตรีนักปราชญ์ ฉลาดในวิชาช่างอยู่ชั่วกัลปาวสาน "

นี่คือนางนพมาศ สนมเอกของสมเด็จพระร่วงเจ้า ผู้สามารถประดิษฐ์ความคิดได้เป็นที่น่าอัศจรรย์ จนสืบกลายมาเป็นประเพณีต่อมาอยู่ช้านาน ทั้งๆ ที่นักประวัติศาสตร์หลายท่านสงสัยว่าจะมีตัวตนอยู่จริงหรือไม่

ไม่มีความคิดเห็น: