วันอาทิตย์ที่ 19 เมษายน พ.ศ. 2552

10 อาชีพฮอตฮิตเรียนแล้วไม่ตกงาน

- สวนดุสิตโพลชี้ผลวิจัยล่าสุด บัญชี แพทย์ บริหาร คอมฯ วิศวะ ครองแชมป์ได้งานสูง
- ระบุเศรษฐกิจ สังคม การเมือง ตัวแปรในการตัดสินใจเรียน-เข้าสู่อาชีพ
- เผยโลกไร้พรมแดนสร้างโอกาสใหม่ แอนิเมชั่น-บันเทิง จุดพลุเส้นทางอินเทรนด์
- วงในกระตุ้นการตื่นตัว โลกเข้าสู่สังคมที่ไม่ว่าจะอยู่ส่วนไหนล้วนต้องการการพึ่งพาและเชื่อมโยงกัน

การเปลี่ยนผ่านของโลกตั้งแต่อดีตจนมาถึงปัจจุบัน ตั้งแต่ยุคสังคมเกษตร ยุคสังคมอุตสาหกรรม จนกระทั่งถึงยุคสังคมฐานความรู้ เมื่อยุคเปลี่ยนไปก็ย่อมก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงมากมาย ทั้งโครงสร้างการเมือง เศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม อุตสาหกรรม ตลอดจนโมเดลทางธุรกิจ

แต่อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนแปลงด้านการศึกษาและการเข้าสู่อาชีพในปัจจุบันจะเป็นอย่างไรนั้น "ผู้จัดการรายสัปดาห์" ติดตามความเคลื่อนไหวล่าสุดมานำเสนอ

สวนดุสิตโพลจับกระแส
อาชีพอิน-เอ้าท์เทรนด์

รศ.ดร.สุขุม เฉลยทรัพย์ รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต (มสด.) กล่าวว่า เมื่อเร็วๆ นี้ สวนดุสิตโพล ม.ราชภัฏสวนดุสิต ได้สำรวจความคิดเห็นเกี่ยวกับกลุ่มสาขาอาชีพต่างๆ ที่มีต่อสาขาวิชาที่เรียนแล้วจะได้งานทำ โดยสำรวจจากผู้ประกอบการผู้ใช้บัณฑิตที่กระจายตามสาขาวิชาต่างๆ, นักวิชาการที่มีความสำคัญในการวางแผนพัฒนาเศรษฐกิจสังคมของชาติ, กลุ่มนายธนาคารซึ่งมีผลต่อการให้กู้ยืมเงิน, นักปฏิบัติการ ผู้บริหารระดับกลาง ฝ่ายบัญชี หัวหน้าฝ่ายพัสดุการคลังนโยบาย ฯลฯ รวม 1,376 ตัวอย่าง

เนื่องจากคนกลุ่มนี้ไม่ได้มองธุรกิจของตัวเองแค่วันนี้ แต่มองไปถึง 3-5 ปีข้างหน้า เพื่อสะท้อนออกมาว่าคนกลุ่มนี้ต้องการคนทำงานประเภทใดเพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงาน และเป็นส่วนหนึ่งที่ม.ราชภัฎสวนดุสิตนำมาปรับปรุงแก้ไขหลักสูตรต่างๆ

นอกจากนี้ เป็นการแนะแนวทางให้กับอาจารย์แนะแนว 200 กว่าคนทั่วปริมณฑล เนื่องจากครูแนะแนวจะต้องดูเรื่องการบริหารความเสี่ยงการบริหารอนาคต เพราะการแนะแนวต่อไปในอนาคตจะต้องประกันความเสี่ยงว่าเรียนแล้วจะต้องไม่ตกงาน และเพราะความต้องการแรงงานมีความเปลี่ยนแปลงไปตามความต้องการของตลาด และภาวะเศรษฐกิจ

ผลการสำรวจ 10 อันดับสาขาที่หางานง่าย ได้แก่ อันดับที่ 1 การบัญชี 19.71% อันดับที่ 2 แพทยศาสตร์ 18.75% อันดับที่ 3 บริหารธุรกิจ 12.02% อันดับที่ 4 คอมพิวเตอร์ 10.10% อันดับที่ 5 วิศวกรรมศาสตร์ 10.10% อันดับที่ 6 การตลาด 8.65% อันดับที่ 7 นิติศาสตร์ 8.17% อันดับที่ 8 พยาบาลศาสตร์ 4.81% อันดับที่ 9 การจัดการ 4.33% และอันดับที่ 10 รัฐศาสตร์ 3.36%

รศ.ดร.สุขุม กล่าวเสริมว่า เหตุที่สาขาการบัญชีอยู่ในอันดับ 1 เนื่องจากการทำธุรกรรมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการบริหารธุรกิจ การจัดการ การประกอบกิจการไม่ว่าจะเล็กหรือใหญ่ก็ต้องใช้บุคลากรทางด้านบัญชีทั้งสิ้น นอกจากนี้ หากธุรกิจมีนโยบายดีเท่าใดแต่ก้นถุงรั่ว หรือไม่มีการคิดเรื่องความคุ้มทุน ค่าใช้จ่าย ก็จบ

สำหรับแพทย์นั้นถือว่ามีการขาดแคลนบุคลากร แต่คนที่จะเรียนได้ต้องมีสติปัญญาที่ดี และต้องมีค่าใช้จ่ายในการเรียนที่สูงถ้าไม่ได้ทุนรัฐบาลซึ่งแพทย์และพยาบาลอยู่ในอันดับทอปเท็นตลอด ส่วนการตลาดหรือบริหารจริงๆ แล้วต้องยอมรับว่า ความต้องการด้านบุคลากรด้านการตลาดมีมาก แม้กระทั่ง มหาวิทยาลัยยังต้องมีฝ่ายการตลาดของตัวเองเพราะยุคของการแข่งขันมีมากขึ้น

ด้านคอมพิวเตอร์ ปัจจุบันเนื่องจากมีการใช้เทคโนโลยีมากขึ้นทำให้ต้องอาศัยคนกลุ่มนี้ สำหรับนิติศาสตร์และรัฐศาสตร์ ด้วยความที่โลกอยู่ในยุคของการแข่งขัน การแย่งชิงทรัพยากรที่มีจำนวนจำกัด เรื่องของกฎหมาย การปกครองเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่สำคัญ

โดยหากเปรียบเทียบผลวิจัยระหว่างปีที่ผ่านมากับปีนี้เห็นการเปลี่ยนแปลง คือ นิติศาสตร์ และรัฐศาสตร์เดิมอยู่ต่ำกว่าทอปเท็น แต่ที่สามารถก้าวขึ้นอันดับทอปเท็นได้เชื่อว่าเป็นเพราะปัจจุบันเกิดกรณีความขัดแย้งที่ต้องอาศัยด้านกฎหมายมากขึ้น ในขณะที่ปีที่แล้วการเรียนสาขาสิ่งแวดล้อมมีความชัดเจนมากขึ้นก็ติดอยู่ในอันดับ

หรืออย่างเมื่อสองปีก่อน ในช่วงรัฐบาลของอดีตนายก พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร สาขาวิชาที่ขึ้นทอปเท็นก็จะเป็นเรื่องของบริหารจัดการ การจัดการองค์กร เพราะรัฐบาลเน้นเรื่องของธุรกิจ หรือถ้าเป็น 4-5 ปีก่อนเรื่องของไอทีมาแรงก็เป็นไอที เทคโนโลยีสารสนเทศ

อย่างไรก็ดี การทำโพลสำรวจเปลี่ยนแปลงไปตามสถานการณ์ต่างๆ เนื่องจากการศึกษาของไทยขึ้นอยู่กับเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง เช่น หลังการเลือกตั้งวันที่ 23 ธันวาคมนี้ ไม่ว่าพรรคการเมืองใดได้ขึ้นเป็นรัฐบาลก็เชื่อว่าจะต้องมีการเปลี่ยนแปลงนโยบายซึ่งส่งผลต่อการศึกษาอย่างแน่นอน

เช่น ถ้ารัฐบาลมุ่งไปเรื่องของอุตสากรรมหลักสูตรด้านอุตสาหกรรมก็จะเกิด หรืออย่างช่วงที่ผ่านมารัฐบาลมุ่งเรื่องของการเงินธนาคารทำให้ธนาคารเกิดขึ้นหลายแห่ง หลักสูตรด้านการเงินธนาคารก็เกิด

หรือช่วงที่มีเรื่องของประชาธิปไตยคนก็มองว่าถ้าต้องการเรียนกฎหมายก็ควรเรียนที่ธรรมศาสตร์ นอกจากนี้ หากหลังการเลือกตั้งเกิดรัฐประหารอีกนโยบายต่างๆ ก็ต้องเปลี่ยน อาชีพต่างๆ ที่จะเรียนก็จะมีผลเปลี่ยนแปลงไปด้วย

นิเทศ-ถา'ปัด-มัณฑนศิลป์-อักษร-พุทธ
เรียนหดเหตุเข้าอุตสาหกรรมยาก

รศ.ดร.สุขุม ยังได้แสดงความคิดเห็นถึงคณะหรือสาขาที่เรียนแล้วส่งผลต่อการหางานว่า ม.ราชภัฎสวนดุสิตยังได้นำข้อมูลคณะหรือสาขาที่เดิมเคยอยู่ในอันดับที่ได้รับความนิยมแต่ปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงมาสอบถามกับกลุ่มผู้ประกอบการในสาขาๆ นั้นถึงเหตุผล

โดยคณะที่เห็นการลดลง คือ นิเทศศาสตร์ ซึ่งมีการสอบถามกองบรรณาธิการของทั้งสำนักพิมพ์ และสถานีโทรทัศน์ พบว่าแม้ว่าปริมาณผู้เรียนจะมีมาก แต่คนในวงการไม่มีการเกษียณอายุการทำงานทำให้ตลาดแรงงานแคบ

ส่วนสถาปัตยกรรม มัณฑนศิลป์ อักษรศาสตร์ ก็มีการเรียนลดลงโดยปริยายทั้งที่คนมองว่าภาษาไทยมีการใช้ไม่ถูกต้อง เนื่องจากปัจจุบันการแข่งขันในตลาดมีสูงและสภาพเศรษฐกิจแบบนี้คนมองเรื่องของปากกัดตีนทีบมากกว่า ทำให้การมองเรื่องสุนทรียภาพและศิลปะลดลง หรือทางด้านพุทธศาสตร์ก็ได้รับผลกระทบแม้ว่าตลาดจะมองว่าคนขาดด้านจริยธรรมกันมาก แต่เรียนทางด้านนี้แล้วจบออกมาก็ไม่มีงานทำ

สำหรับการแก้ปัญหาในเรื่องของหลักสูตรหรือสาขาที่ได้รับความนิยมลดลงนั้น สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษามีกฎกำหนดไว้อยู่แล้วเมื่อครบ 5 ปีหลักสูตรจะต้องมีการเปลี่ยนแปลง เนื่องจากหากไม่เปลี่ยนจะไม่ทันกับความต้องการของตลาด ดังนั้น วิทยาการความรู้ต่างๆ จะต้องสอนเพื่อวันนี้ไม่ใช่วันพรุ่งนี้

เช่น อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวในปัจจุบันมีครอบคลุมไปหลายเรื่องทั้งคมนาคม สื่อสารการท่องเที่ยว ก็ต้องมีการปรับเปลี่ยนการเรียน เพราะเป็นการเรียนเพื่ออนาคต หรือ นิเทศศาสตร์มีเรื่องของการสื่อสารนิเทศศาสตร์ก็ต้องปรับ นอกจากนี้ ยังต้องมีการจัดการความรู้ของแต่ละวิชาชีพ เพราะมีการเกิดขึ้นใหม่ตลอดเวลา

รศ.ดร.สุขุม กล่าวเสริมในมุมมองของการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้แล้วทำให้หางานทำยาก ว่า การนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้จะส่งผลกระทบต่อการหางานทำของนักศึกษาถ้าในแง่ของสถาปัตยกรรมไทย ศิลปกรรมไทย มัณฑนาการ ฯลฯ เพราะมีปัจจัยเรื่องของความรีบร้อน งบประมาณแล้ว คอมพิวเตอร์เข้ามาชดเชยได้ แต่ชดเชยด้านสุนทรียภาพไม่ได้ เช่น ภาพของอาจารย์เฉลิมชัยที่ก๊อปมาขายกับภาพที่เขียนสด แรกๆ คนอาจจะนิยมภาพก๊อปแต่ถึงจุดหนึ่งคนจะเริ่มต้องการภาพที่วาดโดยอาจารย์เอง อย่างไรก็ตาม อาชีพที่เกี่ยวกับสุนทรียภาพถือเป็นอาชีพทำเงิน

การนำคอมพิวเตอร์หรือเทคโนโลยีมาใช้ ก็ยังต้องใช้คนเข้ามาสร้าง ใช้คนออกแบบ ใช้ความคิดของคน โดยเฉพาะถ้าเป็นการผลิตสินค้าเพื่อคนกลุ่มอายุ 40-50 ปีแล้ว ลูกค้ากลุ่มนี้ต้องการสุนทรียภาพ คอมพิวเตอร์ไม่สามารถชดเชยตรงนี้ได้

"เช่น แต่เดิมการสร้างบ้านจัดสรรมุ่งทำบ้านสไตล์ยุโรป แต่ตอนนี้กลับมาเป็นรีสอร์ทในเมือง ทำให้งานที่เกี่ยวกับการจรรโลงใจจึงเป็นอาชีพอมตะ แม้ว่า มหาวิทยาลัยอื่นๆ อาจจะมีเครื่องไม้เครื่องมือทันสมัยต่างๆ แต่ทำไมคนถึงยังอยากรู้ศิลปะของอาจารย์ ศิลป์ พีระศรี ว่าเขียนยังไง เพราะคนที่ต้องการความเป็นต้นกำเนิดเป็นคนที่มีอำนาจการซื้อ" รศ.ดร.สุขุม วิเคราะห์

ธรรมศาสตร์ชี้บัญชีแชมป์
แต่ต้องมีคุณภาพ-ได้ภาษา

รศ.เกศินี วิฑูรชาติ คณบดี คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า การที่ผลการสำรวจออกมาว่าบัญชีอยู่ในอันดับ 1 ของสาขาที่เป็นที่ต้องการของตลาด เพราะปัจจุบันบัญชีอยู่ในภาวะขาดแคลน ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจเล็กหรือใหญ่ก็ต้องการบุคลากรทางด้านนี้ หรือแม้แต่ธุรกิจที่กำลังปิดตัวคนที่จะถูกเลิกจ้างเป็นคนสุดท้ายก็คือนักบัญชี ถือว่าเป็นอาชีพที่สำคัญมาก

นอกจากนี้ จากที่เคยคุยกับบริษัทผู้ตรวจสอบบัญชียังพบว่าคนที่จบด้านนี้ไม่เพียงพอ โดยเฉพาะบัณฑิตที่ผลิตจากมหาวิทยาลัยขนาดใหญ่ แม้ว่าจะมีการให้มหาวิทยาลัยผลิตบัณฑิตป้อนสู่ตลาดมากขึ้น แต่ไม่สามารถทำได้ เพราะไม่มีนโยบายผลิตบัณฑิตระดับปริญญาตรีเพิ่ม และยังเห็นว่าการผลิตบัณฑิตระดับปริญญาตรีมหาวิทยาลัยเอกชนสามารถทำได้ ธรรมศาสตร์จึงมีเป้าหมายไปผลิตบัณฑิตในระดับปริญญาโทและเอกในทุกสาขาวิชาแทน เพราะปริมาณบุคลากรของคณะมีจำนวนจำกัด และตลาดต้องการบัณฑิตที่มีคุณวุฒิทางการศึกษาสูงขึ้น

ส่วนสาขาแพทย์ศาสตร์มีความจำเป็นแน่นอนอยู่แล้ว เนื่องจากยังไม่พอกับความต้องการโดยเฉพาะชนบท ส่วนวิชาชีพทางด้านกฎหมายก็มีความจำเป็นมากขึ้น เนื่องจากธุรกิจปัจจุบันต้องมีนักกฎหมายมากขึ้น ซึ่งทั้ง 3 สาขาวิชานี้มีความสำคัญมากขึ้นทุกที

อย่างไรก็ดี นักบัญชีที่ตลาดต้องการ คือ นักบัญชีที่มีคุณภาพเป็นสำคัญ ซึ่งปัจจุบันคนที่จะมาทำงานด้านบัญชีไม่ใช่มีแค่ความรู้ทางด้านบัญชีเท่านั้น ยังต้องมีองค์ความรู้ด้านภาษาที่ 2 และ 3 ด้วย เพราะปัจจุบันธุรกิจในไทยมีชาวต่างชาติมาลงทุนมากขึ้น ดังนั้น การรู้เรื่องของภาษาเป็นปัจจัยสำคัญทั้ง อังกฤษ ญี่ปุ่น จีน และเชื่อว่าในอนาคตอาจจะขยายไปยังภาษาอื่นๆ

ด้วยเหตุผลดังกล่าวคณะจึงให้ความสำคัญกับการเรียนภาษาที่ 2 และ 3 โดยได้รับการสนับสนุนจาก บริษัท เอ็กซอนโมบิล จำกัด ให้ทุนเรียนภาษากับนักศึกษาบัญชีระดับปริญญาตรี 50 ทุนเพื่อไปเรียนภาษาที่ 3 นอกจากนี้ ยังต้องมีความรู้เท่าทันการทำบัญชีทั้งไทยและต่างประเทศด้วย เนื่องจากปัจจุบันคนหนึ่งคนต้องมีความรู้ในหลายด้านมากขึ้น

ส่วนปัจจัยที่ทำให้นักศึกษาปริญญาตรีต่างคณะหันมาเรียนปริญญาโทสาขาบัญชีมากขึ้น เพราะเป็นวิชาชีพเฉพาะ ต้องจบทางด้านบัญชีเท่านั้น ในขณะที่ในอดีตคนที่จบจากบริหารก็สามารถมาทำได้ เมื่อมีการออกพรบ.การบัญชี 2543 ทำให้คนที่ไม่เรียนด้านบัญชีต้องเรียนเพิ่ม

นอกจากนี้ ผู้บริหารหรือคนในสายอาชีพอื่นก็มองว่าการเรียนบัญชีทำให้เขามีความรู้ทางด้านการเงินอย่างลึกซึ้งซึ่งส่งผลต่อการบริหารงานของเขาได้ และทำให้รู้ว่าธุรกิจมีทิศทางแบบใด โดยคณะมีการเปิดหลักสูตรปริญญาโท สาขาการบัญชี (Master of Accounting Program) (MAP) ซึ่งเปิดรับผู้จบจากทุกคณะแต่จะต้องมาเรียนวิชาพื้นฐานที่กำหนดไว้เพิ่ม เช่น วิชาบัญชีการเงิน ต้นทุน ฯลฯ

รศ.เกศินี กล่าวเสริมถึงสถานการณ์บัณฑิตด้านบัญชีของธรรมศาสตร์ว่า จากข้อมูลของคณะพบว่านักศึกษาระดับปริญญาตรีจบไปแล้วมีงานทำถึง 95% หลังจากจบการศึกษาไปแล้ว 4-5 เดือน ส่วนอีก 5% กำลังรองานหรือศึกษาต่อซึ่งมั่นใจว่านักศึกษาทุกคนมีงานทำทั้งหมด

จุฬาฯ มั่นใจวิชาการแน่น
ห่วงครองตน-ทนงาน-ภาษา-รอบรู้

รศ.ดร.พสุ เดชะรินทร์ หัวหน้าภาควิชาพาณิชยศาสตร์ คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า จากผลสำรวจที่พบว่าบัญชีและแพทย์เป็นคณะที่จบแล้วมีอาชีพรองรับนั้นไม่ใช่เพิ่งเกิดขึ้นแต่เกิดมาประมาณ 20 ปีแล้ว เนื่องจากทั้งสองอาชีพเป็นวิชาชีพที่คนจะทำได้ต้องจบทางมาโดยตรง นอกจากนี้ คนที่เรียนจบบัญชีไม่ใช่ต้องออกไปทำบัญชีอย่างเดียว แต่ยังสามารถไปทำงานเป็นผู้ตรวจสอบบัญชีได้ด้วยทำให้สายงานขยาย

ส่วนบริหารแม้ว่าจะคนทำงานด้านนี้อยู่มากแล้ว แต่บริหารเป็นคณะที่กว้าง ไม่ว่าจะเป็นบริหารการตลาด การจัดการ ฯลฯ ดังนั้นจะต้องดูว่าที่มีอยู่มากเป็นเรื่องบริหารอะไร สำหรับนิติศาสตร์ และวิศวกรรมต้องบอกว่าสองวิชานี้เป็นวิชาชีพเหมือนกับแพทย์ศาสตร์

อย่างไรก็ตาม การจะเลือกเรียนคณะใดจะต้องมีอาชีพรองรับ ซึ่งการสร้างอาชีพให้กับนักศึกษา สำหรับจุฬาฯ ก็มีการช่วยนักศึกษาหางานทำด้วยการจัดจ๊อบแฟร์ต่างๆ และมีการเตรียมตัวนักศึกษาให้พร้อมกับการทำงาน เนื่องจากวิชาความรู้ไม่ใช่สิ่งที่น่าห่วงสำหรับนักศึกษา แต่สิ่งที่ห่วงคือการครองตน การสู้งาน ภาษาที่ 2-3 และความรอบรู้

ม.รังสิตเสริมความรู้
พัฒนา นศ.ก่อนทำงาน

สมเกียรติ รุ่งเรืองวิริยะ ผู้อำนวยการสำนักงานประชาสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่า การแสดงความคิดเห็นของม.รังสิตในเรื่องนี้มาจาก 2 ฐานะ คือในฐานะของผู้ที่ต้องรับคนทำงาน และเป็นผู้ผลิตบัณฑิตออกไป โดยมองว่าสายที่มีปัญหาด้านการหางาน คือ มนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ เนื่องจากหากผลิตไม่ตรงกับวิชาชีพแรงงานหรือไม่เก่งพอก็จะหางานทำยาก เพราะจริงๆ แล้วตลาดแรงงานไม่ได้เต็มแต่ขาดคนเก่งเข้าไปทำงาน

เช่น นิเทศศาสตร์คนมองว่าตลาดเริ่มเต็ม แต่จริงๆ แล้วอุตสาหกรรมด้านนี้ของไทยยังขาดบุคลากรอยู่ เพราะการทำงานตรงนี้เป็นแบบระบบอาเสี่ย คนที่ทำจริงๆ มีอยู่ไม่กี่คน อย่างผู้กำกับดังๆ ทั้งสมัยก่อนและสมัยนี้ก็ยังมีอยู่ไม่กี่คน

นอกจากนี้ วงการวิชาชีพเหล่านี้อยากได้คนที่มีความรอบรู้ที่หลากหลายทำให้หลายมหาวิทยาลัยต้องมีการปรับตัวจากเดิมที่ฝึกงานไม่นานก็กลับไปเรียนต่อ ปัจจุบันก็มีการปรับให้มีการฝึกงานเพิ่มขึ้น บางแห่งใช้ชื่อว่าสหกิจศึกษาโดยให้นักศึกษาเข้าไปฝึกงาน 1 เทอมการศึกษา หรืออย่าง ม.รังสิต ก็ปรับจากการฝึกงาน 2 เดือนมาเป็นฝึกงาน 3 เดือน และมีการเพิ่มความรู้ให้กับนักศึกษาด้วยการสร้างกิจกรรมต่างๆ อย่าง สร้างหนังสั้น หนังสือพิมพ์ออนไลน์ อย่างไรก็ดี ใช่ว่าการเรียนนี้จะส่งผลกระทบต่อการหางานทำ เพราะสายสังคมสามารถแจ้งเกิดและหางานทำได้ ถ้าเป็นสายสังคมทางด้านภาษา

ในขณะที่ถ้าเป็นพวกสายวิทยาศาสตร์ อย่าง วิทยาศาสตร์สุขภาพถือว่าไม่ปัญหาแน่นอนปิดประตูตกงานแน่นอน เพราะยังขาดแคลนอีกมหาศาล หรือแม้แต่ทัศนะแพทย์หรือกายภาพบำบัดปัจจุบันก็มีแนวโน้มโตขึ้นความต้องการก็สูง หรือพยาบาลปัจจุบันประเทศสวีเดน เนเธอร์แลนด์ ขอให้ทางม.รังสิตส่งนักศึกษาไปทำงานกับเขาให้ได้ปีละ 100 คน โดยให้ผลตอบแทนสูงจะเห็นว่าการขาดแคลนด้านนี้ไม่ใช่แต่ในไทยแต่ขาดแคลนทั่วซึ่งกลุ่นี้ถึงจะเรียนไม่เก่งก็ยังหางานทำได้

หรือพวกสาขาด้านวิทยาศาสตร์ไฮเทค อย่าง ไบโอเทค วิศวกรรม หรือคอมพิวเตอร์ไซน์ กลุ่มนี้ยังมีอัตราการเข้าทำงานไม่สูงมาก บางบริษัทต้องเข้ามาจองนักศึกษาก่อนที่จะจบการศึกษาด้วยซ้ำ ส่วนกลุ่มทางด้านศิลปะ อย่าง สถาปัตยกรรม ศิลปกรรม ปริมาณการจะได้งานทำขึ้นอยู่กับแต่ละคน อย่างไรก็ดี แนวโน้มของการทำงานของเด็กรุ่นใหม่ไม่ได้มองเรื่องของการทำงานบริษัท แต่ชอบทำงานอิสระทำให้ปริมาณการได้งานทำอาจจะไม่สูงแต่กลุ่มนี้ไม่ได้ตกงานมีงานทำแบบแต่เป็นฟรีแลนด์เท่านั้นเอง

วงในชี้ 'สถาปัตย์-วิศวะ'
เงินน้อย งานหนัก วิ่งหาอาชีพอื่น

วิศวกร ยังเป็นอาชีพท็อปฮิตของเด็ก ม.ปลายทุกยุคสมัย เพราะเป็นอีกหนึ่งอาชีพที่ถูกมองว่าทำเงินเช่นกัน เกือบทุกสถาบันมีการเปิดสอนวิศวกรรมศาสตร์อย่างแพร่หลาย เพราะได้รับการตอบรับจากตลาดเป็นอย่างดี แม้ในความเป็นจริงตอนนี้ภาพรวมของตลาดก่อสร้าง ซึ่งเกี่ยวข้องแวดวงวิศวกรรมจะชะลอตัวไปบ้าง แต่ก็ยังเป็นสาขาวิชาที่ได้รับความสนใจอย่างต่อเนื่อง เห็นได้จากทุกสถาบันจะมีนักเรียนแย่งกันสอบเข้าเป็นจำนวนมากทุกปี

อารยา เพ็งนิติ เลขาธิการ วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวว่า ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมางานของแวดวงวิศวกรรมเงียบไปมาก เห็นได้จากจำนวนงานที่เปิดประมูลก่อสร้างลดลง มาจากงบประมาณในการก่อสร้างของภาครัฐน้อยลง เศรษฐกิจถดถอย การบริโภคลดลง ภาครัฐเก็บภาษีได้ต่ำกว่าเป้า ทำให้ไม่มีรายได้มาลงทุนโครงการใหญ่ๆ ทำให้ไม่มีเม็ดเงินหมุนเวียนมากระตุ้นเศรษฐกิจอย่างแท้จริง

ในทุกปีจะมีบัณฑิตวิศวกรรมศาสตร์จบใหม่ปีละประมาณ 5,000 คน แต่เมื่อไปสอบกับสภาวิศวกร เพื่อขึ้นทะเบียนเป็นภาคีวิศวกร หรือสอบเลื่อนชั้น พบว่า ยังมีคนสอบผ่านไม่ถึงครึ่ง สะท้อนถึงคุณภาพของบัณฑิตว่ายังไม่เพียงพอกับที่ตลาดแรงงานต้องการ

อารยา กล่าวว่า ทุกวันนี้สถาบันการศึกษาผลิตบัณฑิตออกมาไม่สอดคล้องกับที่ตลาดแรงงานต้องการ เช่น โยธา ไฟฟ้ามีมากเกินไป เพราะตลาดก่อสร้างกำลังหดตัว ในขณะที่ตลาดแรงงานด้านวิศวกรยานยนต์ สิ่งแวดล้อม ปิโตรเคมี กำลังเป็นที่ต้องการของตลาดเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งสาขาสุดท้ายที่มีค่าตอบแทนสูงที่สุด ในยุคที่โลกกำลังให้ความสนใจเรื่องพลังงานทดแทน แต่ปัญหา คือ ยังมีสถาบันเปิดสอนไม่มากนัก เนื่องจากต้องใช้เงินลงทุนสูง

"อาชีพที่ขาดแคลนมากตอนนี้ คือ ช่างเชื่อม ซึ่งมักเป็นเด็กที่เรียนจบอาชีวะ เพราะเป็นงานที่หนัก เด็กจึงไม่ค่อยให้ความสนใจ หันไปเรียนวิศวะ ไปทำงานออกแบบ ที่เหนื่อยน้อยกว่างานออกภาคสนาม" อารยา กล่าว

ในช่วง 5-10 ปีหลังวิศวกรจบใหม่ตัดสินใจหันเหชีวิตไปทำอาชีพอื่นแทนมากขึ้น เพราะมองว่าในแง่ค่าตอบแทนยังได้น้อยกว่าอาชีพอื่นๆ สมัยก่อนอัตราเงินเดือนบัณฑิตจบใหม่เริ่มต้นที่ 12,000-14,000 บาท แต่ปัจจุบันอยู่ที่ไม่เกิน 10,000-12,000 บาท

"ลักษณะงานที่หนัก เงินเดือนที่น้อยกว่าบางอาชีพอื่น ทำให้เด็กจบใหม่เปลี่ยนไปทำธุรกิจส่วนตัว หรือเรียน MBA แทน เพื่อทำงานด้านบริหารมากขึ้น ซึ่งมีรายได้มากกว่าเป็นวิศวกร 1.5-2 เท่า ยิ่งในช่วง 5-10 ปีหลังมีแนวโน้มแบบนี้เกิดขึ้นเยอะมาก เพราะเศรษฐกิจไม่ดี งานวิศวะมีน้อยลง ต้องแข่งขันสูง ก็ตัดสินใจเปลี่ยนอาชีพไปเลย" อารยาให้เหตุผล

อย่างไรก็ตามอารยาให้คำแนะนำถึงวิศวกรรุ่นใหม่ที่ต้องการจะเติบโตในวิชาชีพนี้ว่า จะต้องเร่งพัฒนาทักษะด้านภาษา เพื่อให้พร้อมเข้าสู่การแข่งขันกับตลาดโลก ซึ่งในอนาคตจะต้องมีการเปิดเขตการค้าเสรี หรือ FTA ขึ้น

ขณะที่อาชีพสถาปนิกเป็นหนึ่งในอาชีพดาวรุ่งเช่นกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงก่อนปี 2540 ที่อสังหาริมทรัพย์กำลังเฟื่องฟูสุดขีด ทำให้สถาปนิกมีงานออกแบบล้นมือ เกิดเป็นภาวะขาดแคลนบุคลากรของวิชาชีพนี้ แต่ภาพจริงของอาชีพสถาปนิก แม้ในอดีตจะถูกมองว่าเป็นอีกหนึ่งอาชีพที่ "ทำเงิน" แต่เมื่อบางคนได้เข้ามาสัมผัสจริง กลับกลายเป็นอาชีพที่บัณฑิตใหม่สถาปัตยกรรมศาสตร์กว่า 20-30% ไม่เลือกทำเพราะพบกับอาชีพอื่นที่เหนื่อยน้อยกว่า และให้ผลตอบแทนดีกว่า

ประกอบกับ สถาบันต่างๆ ผลิตบัณฑิตสถาปัตยกรรมออกมามากกว่าที่ตลาดแรงงานต้องการ ซึ่งเกิดมาจากกระแสวิชาชีพขาดแคลนในช่วงเศรษฐกิจฟองสบู่ ทำให้หลายสถาบันอิงกระแส หันมาเปิดสอนมากขึ้น แต่เมื่อเวลาผ่านไปเศรษฐกิจเข้าสู่วงจรขาลง การลงทุนก่อสร้างไม่คึกคักเหมือนเมื่อก่อน ทำให้สถาปนิกหลายคนที่เรียนจบออกมาต้องตกงาน

สิน พงษ์หาญยุทธ นายกสมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวว่า ทุกปีจะมีบัณฑิตจบใหม่กว่า 1,000 คน จาก 18-19 สถาบันที่ได้รับการรับรองจากสภาสถาปนิก มีเพียงไม่ถึงครึ่งที่ทำงานในสำนักงานแบบเต็มเวลา ส่วนหนึ่งตัดสินใจเป็นฟรีแลนซ์ หรือศึกษาต่อปริญญาโททันที อีกส่วนหนึ่งหันเหไปทำอาชีพอื่นแทน

"ปัจจุบันสถาปนิกรุ่นใหม่ๆ หันมารวมกลุ่มเล็กๆ ทำงานแบบฟรีแลนซ์กันมากขึ้น เพราะคนรุ่นใหม่รักความเป็นอิสระ ไม่อยากผูกพันกับองค์กร อยากรับผิดชอบแค่เรื่องงานเพียงอย่างเดียว ซึ่งการรับงานอิสระคนจะมองว่าน่าจะเลือกรับงานที่ตัวเองพอใจได้ และได้รายได้เต็มเม็ดเต็มหน่วยมากกว่าการเป็นสถาปนิกประจำสำนักงานที่มีรายได้จากเงินเดือนอย่างเดียว" สินกล่าว

สำหรับอัตราเงินเดือนของสถาปนิกจบใหม่ (ปริญญาตรี) เริ่มต้นที่ 12,500-15,000 บาท หรืออาจะขึ้นไปถึง 18,000 บาท ซึ่งสินบอกว่า เด็กสมัยนี้มองว่าน้อย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในระยะยาวอาจดูไม่มากเท่ากับการเลือกไปทำอาชีพอื่นๆ

เนื่องจากวิชาสถาปัตยกรรมสอนให้คนที่เรียนมีความสามารถหลายด้าน ทำงานได้หลายอย่าง ระยะหลังเด็กที่จบจึงหันเหไปทำอาชีพอื่นที่เกี่ยวกับการออกแบบแทนการเป็นสถาปนิก เช่น ทำแอนิเมชั่น ออกแบบพรีเซนเทชั่น ครีเอทีฟ เป็นต้น ซึ่งงานเหล่านี้เป็นงานที่กินระยะเวลาไม่มากเท่างานสถาปนิก และยังมีรายได้ดีกว่า

แม้จะมีบัณฑิตจบใหม่มากถึง 1,000 คนต่อปี แต่เมื่อถามถึงจำนวนเด็ก ม.6 ที่เข้ามาเรียนสถาปัตยกรรม ศาสตร์ สินบอกว่า ลดลงเรื่อยๆ ซึ่งเป็นภาวะที่เกิดขึ้นทั่วโลก เพราะเมื่อเข้ามาสัมผัสจริงจะรู้ว่าอาชีพนี้ไม่ได้ให้ผลตอบแทนสูงอย่างที่คาด พบว่าเด็กรุ่นใหม่ที่สนใจการออกแบบจะหันไปเรียนตกแต่งภายใน หรือออกแบบผลิตภัณฑ์มากขึ้นแทน

"ทุกวันนี้บัณฑิตจบใหม่มีเยอะ แต่งานที่มีรองรับไม่พอ และคุณภาพของบัณฑิตที่จบใหม่ก็ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาด ทำงานคนตกงานมากขึ้น ยิ่งทุกวันนี้งานใหม่ๆ เข้ามาน้อยลง ช้าลง บางงานต้องอาศัยคนที่มีประสบการณ์ ทำให้คนใหม่มีโอกาสน้อย รวมทั้ง 3-4 ปีหลัง สำนักงานสถาปนิกเริ่มจะรับคนจบใหม่น้อยลง แต่พยายามเร่งที่จะเทรนคนเก่าให้มีความสามารถมาก

นายกสมาคมสถาปนิกสยามฯ ทิ้งท้ายว่า หากคาดการณ์สถานการณ์ในปีหน้า คิดว่างานสถาปนิกคงมีไม่มากนัก จะอยู่ในลักษณะนิ่งๆ แต่ไม่ถึงกับหดหายไป เพราะการลงทุนยังคงมีให้เห็นอยู่บ้าง คนที่สามารถอยู่รอดได้ คือ คนพัฒนาทักษะตัวเองอยู่ตลอดเวลา ซึ่งจะเป็นที่ต้องการมากของตลาดแรงงาน

ดร.สุวิทย์ เคยกล่าวไว้ว่า ยุคนี้ความเหลื่อมล้ำไม่ใช่เกิดแค่คนจนกับคนรวย แต่เป็นความเลื่อมล้ำของคนที่รู้กับไม่รู้ แล้วคนรู้เอาเปรียบคนไม่รู้ได้ ต่อไปช่องว่างตรงนี้จะมากขึ้นมหาศาลระหว่างคนจนคนรวย คนรู้ไม่รู้ คนที่ได้โอกาสกับคนที่ด้อยโอกาส

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันโลกกำลังเดินเข้าสู่ "สังคมหลังฐานความรู้" ซึ่งเป็นยุคที่คนจะเชื่อมโยงกันอย่างกว้างขวาง พึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน เป็นยุคที่การแข่งขันมันต้องมีการ ร่วมไม้ร่วมมือ ร่วมแข่งร่วมค้า มีความร่วมมือทางสังคม และเป็นยุคที่เรียกร้องทุนนิยมที่ยั่งยืนมากที่สุด

ทั้งนี้ การศึกษาเป็นพื้นฐานของหาและการสร้างความรู้ ไม่ว่าจะสาขาอาชีพใดสิ่งสำคัญจึงอยู่ที่คุณภาพของคนในประเทศไทย ที่จะช่วยกันนำพาประเทศให้ก้าวไปในทิศทางที่ถูกต้อง

************

โอกาสใหม่อาชีพอินเทรนด์

ขณะที่กระแสโลกเข้าสู่ยุคดิจิตอล ได้มีอาชีพใหม่ๆ เกิดขึ้น สถาบันการศึกษาส่วนใหญ่ได้ตั้งคณะใหม่ รวมถึงหลักสูตรต่างๆ ตอบโจทย์ความต้องการของตลาดแรงงานมุ่งสร้างความรู้ที่หลากหลายให้เกิดขึ้นจะเห็นได้ชัดในคณะนิเทศศาสตร์และแอนิเมชั่น ขณะเดียวกันผู้เรียนมุ่งหาความรู้ ความนิยมในต่างประเทศยังสูงลิ่ว

บันเทิง-แอนิเมชั่น นำโด่ง
ผุดหลักสูตรตอบโจทย์ตลาด

ปีเตอร์ กัน ประธานที่ปรึกษาหลักสูตร นิเทศศาสตร์มหาบัณฑิต สาขาการบริหารธุรกิจบันเทิงและการผลิต มหาวิทยาลัยกรุงเทพฯ ในฐานะที่เป็นผู้คร่ำหวอดในวงการบันเทิงที่ผันตนเองโดยการนำประสบการณ์จริงมาถ่ายทอดผ่านชั้นเรียน กล่าวว่า ปัจจุบันองค์ความรู้ผ่านช่องทางการศึกษา โดยเฉพาะนิเทศศาสตร์ได้มีการปรับตัวสนองตอบความต้องการของตลาดมากขึ้น พบว่าความนิยมในอาชีพบันเทิงสูงมากเติบโตตามอุตสาหกรรมภาพยนตร์และกระแสความนิยมจากสหรัฐอเมริกา

จะเห็นว่าเป้าหมายของการเปิดหลักสูตรดังกล่าวของ ม.กรุงเทพ ต้องการจะสร้างศักยภาพและดึงจุดเด่นของผู้เรียนให้มีมากขึ้น สอดรับกับการก้าวสู่โลกดิจิตอลเจาะกลุ่มตลาดแรงงานที่หลากหลายมากขึ้น นับเป็นโอกาสและความท้าทายที่วงการบันเทิงต้องสร้างบุคลากรใหม่เพื่อมาตอบสนองกลุ่มเป้าหมายให้ได้

หลังจากเปิดหลักสูตรดังกล่าวมา 1 ปี พบว่า อายุเฉลี่ยของนักศึกษาที่เข้ามาเรียนมีความหลากหลายตั้งแต่อายุ 20- 80 ปี ซึ่งแต่ละคนต่างมีประสบการณ์จากการทำงานในสาขาอาชีพอื่นๆ ที่ไม่ใช่การแสดง แต่ทุกคนมุ่งหวังจะนำความรู้ที่ได้มาปรับใช้ในธุรกิจของตนเพื่อบริหารจัดการศักยภาพของตนเอง เนื่องจากการแข่งขันในธุรกิจมีสูงหากองค์กรใดมีการจัดการอย่างชัดเจนย่อมทำให้เกิดรายได้มหาศาลกลับมา

"วันนี้โลกของการบริหารศักยภาพที่หลากหลาย สามารถนำมาปรับใช้ได้หลากหลายมาก ดังนั้นการเปิดหลักสูตรไม่ควรมองการเรียนรู้เพียงในประเทศแต่ต้องมองการสร้างมูลค่าระดับโลกเพื่อให้ธุรกิจของตนมีความยั่งยืน ขณะนี้มีการแข่งขันในการเปิดหลักสูตรนี้มากขึ้นส่งผลดีต่ออุตสาหกรรมของไทยจะเติบโตในระดับโลก"

ปีเตอร์ ย้ำอีกว่า การพัฒนาทางเทคโนโลยีขณะนี้สามารถนำเงินซื้อมาได้แต่การสร้างศักยภาพการแข่งขันของคนในประเทศไม่ใช่เรื่องง่าย ซึ่งต้องใช้เวลาและความอดทนเพื่อสร้างสรรค์ อย่างไรก็ตาม ความท้าทายต่อไปในการทำงานเพื่อให้เกิดศักยภาพที่หลากหลายในตัวบุคคล คือ การทำให้ผู้บริหารเปิดใจรับนวัตกรรมและอุตสาหกรรมควบคู่กัน

นันทวัฒน์ คานสุโข ผู้ช่วยผู้อำนวยการหลักสูตรแอนิเมชั่น คณะเอนเตอร์เทนเมนต์ มีเดีย มหาวิทยาลัยนานาชาติ มหิดล กล่าวถึง กระแสการตื่นตัวของนักศึกษาที่นิยมเรียนด้าน แอนิเมชั่น มากขึ้นเป็นผลจากการที่ตลาดแรงงานมีความต้องการบุคลากรด้านนี้มาก ซึ่งไม่จำกัดอยู่เพียงในประเทศแต่สามารถออกไปทำงานในต่างประเทศได้

รวมถึงผลมาจากการได้ดูหนัง แอนิเมชั่น ที่คนไทยสร้างขึ้นเป็นอีกหนึ่งแรงบันดาลใจที่ทำให้คนรุ่นใหม่อยากก้าวมาสู่อาชีพนี้ และผู้ปกครองเริ่มเปลี่ยนทัศนคติจากเดิมที่มองว่า อาชีพนี้ไม่สามารถเติบโตได้แต่ในช่วงหลังสื่อโทรทัศน์มีการสื่อสารผ่าน แอนิเมชั่น มากขึ้นเป็นผลให้นักศึกษาที่เข้ามาเรียนได้รับการส่งเสริมจากผู้ปกครอง และเครื่องมือในการสร้างสรรค์ แอนิเมชั่น มีความสะดวกขึ้นไม่ต้องใช้เครื่องมือที่สลับซับซ้อนเหมือนในอดีต

ขณะเดียวกันจุดอ่อนด้าน ภาษาอังกฤษยังเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่บุคลากรของไทยยังขาด ซึ่งเป็นอีกความท้าทายที่คนทำงานในอาชีพนี้ต้องฝึกฝนให้มากขึ้น ซึ่งหลักสูตรการเรียนในมหาวิทยาลัยจะเป็นอีกช่องทางหนึ่งในการสร้างบุคลากรที่มีคุณภาพเพื่อตอบสนองความต้องการของตลาด

สำหรับช่องทางในการสร้างผลงานของอาชีพนี้ค่อนข้างมีความหลากหลายไม่ว่าจะเป็นการสร้างมิวสิกวีดีโอเพลง หรือสร้างเรื่องราวที่สามารถนำลิขสิทธิ์ของตัวละคนซึ่งคิดขึ้นมาไปผลิตสื่ออื่นๆ เพื่อให้เกิดมูลค่าอันมหาศาลหากมีการดีไซน์เอกลักษณ์เฉพาะตัวของตัวละครที่มีความโดดเด่น

อย่างไรก็ดี แนวโน้มของผู้ประกอบการในอาชีพนี้อนาคตขึ้นอยู่กับสถานะทางเศรษฐกิจเพราะการสร้างสรรค์เรื่อง แอนิเมชั่น สักเรื่องต้องใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 1 ปี เป็นผลให้ต้องใช้เงินทุนในการทำงานสูง ซึ่งในอนาคตหากเศรษฐกิจซบเซาอาจส่งผลให้อาชีพนี้ได้รับผลกระทบอย่าง แต่แนวทางแก้ไขกับปัจจัย ที่เกิดขึ้นผู้ที่เข้ามาเรียนต้องแสวงหาความรู้ด้านภาษาให้มากขึ้นเนื่องจากภาวะเศรษฐกิจในอนาคตประเทศไทยอาจได้รับผลกระทบแต่ประเทศอื่นๆ ในโลกอาจยังมีอัตราการจ้างงานที่เพิ่มสูงขึ้น

เกาะกระแสเรียนต่อต่างแดน
ชี้ตัวเลขเด็กไทยนิยมมากขึ้น

จากข้อมูลสมาคมไทยแนะแนวการศึกษาต่อต่างประเทศ (สนต.) หรือ Thai International Education Consultants Association (TIECA) พบว่าปัจจุบันกระแสความนิยมในการเรียนต่อต่างประเทศเพิ่มสูงขึ้น หลายประเทศมีนโยบายเปิดรับนักศึกษาต่างชาติมากขึ้น

โดยคนไทยถือเป็นนักศึกษาอีกหนึ่งกลุ่มที่ไปเรียนต่อต่างประเทศ แต่ละคิดเป็นมูลค่าหลักหมื่นล้านบาทและยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เพราะความเชื่อว่าการจบจากจากมหาวิทยาลัยดีๆ ดังๆ จะเป็นบันไดก้าวไปสู่ต่ำแหน่งหน้าที่การงานที่ดีและเงินเดือนสูงๆ นอกจากนี้ยังมีสาเหตุจากการที่การศึกษาในไทยยังไม่มีความหลากหลายทางวิชาการมากพอ

ประกอบกับ นอกจากภาษาที่ได้รับกลับมาแล้ว ยังได้ซึมซับระบบการศึกษาที่ดี ประสบการณ์ในการได้ฝึกงานจริงกับบริษัทชั้นนำในต่างประเทศ ทำให้เมื่อกลับมาแล้วจึงมีโอกาสได้ร่วมงานในองค์กรชั้นนำในประเทศไทยมากขึ้น ซึ่งกลุ่มคนที่ไปเรียนแบ่งได้คร่าวๆ เป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่มีความตั้งใจศึกษาต่ออย่างจริงจัง และกลุ่มที่สอบเข้าเรียนต่อที่ไหนไม่ได้ จึงใช้การเรียนต่อต่างประเทศเพื่อเป็นการชุบตัว

แม้ว่าเศรษฐกิจไทยในปัจจุบันจะมีปัญหาทางด้านเศรษฐกิจและการเมือง แต่คาดว่าตัวเลขการเรียนต่อต่างประเทศของเด็กไทยจะโตขึ้น 7%จากปีที่แล้ว โดยเฉพาะประเทศสหรัฐอเมริกาที่ได้รับผลดีจากค่าเงินบาทที่แข็งค่า

นอกจากนี้ ยังพบว่าในช่วง 2-3 ปีนี้ เด็กไทยนิยมหันมาเรียนในประเทศแถบเอเชียมากขึ้น ซึ่งเป็นผลจากการหลั่งไหลของกระแสวัฒนธรรมผ่านเพลง ละคร และภาพยนตร์ ไม่ว่าจะเป็นญี่ปุ่น เกาหลี แต่ด้วยค่าครองชีพที่ค่อนข้างสูงกว่าในประเทศไทยมาก ทำให้ส่วนการไปเรียนต่อโดยเฉพาะที่ญี่ปุ่นยังอยู่ในระดับกลาง

แต่ถ้ามองในเชิงธุรกิจ ความรู้และทักษะด้านภาษา โดยเฉพาะภาษาจีนนับว่ามีความสำคัญและกำลังเป็นที่ต้องการมาก เพราะประเทศจีนเริ่มเจริญก้าวหน้าทำให้ธุรกิจของจีนเป็นที่จับตามอง ดังนั้น การใช้ภาษาจีนเพื่อการสื่อสารธุรกิจการค้าจึงมีความสำคัญมากขึ้น และทำให้ประเทศจีนเป็นอีกหนึ่งในประเทศเป้าหมายของนักศึกษา

ในขณะที่อินเดียก็ถือเป็นอีกหนึ่งประเทศในเอเชียที่ได้รับความนิยมสูงมากในด้านไอที โดยมีนักเรียนไทยมักเดินทางไปเรียนที่เมืองบังคาลอร์ ซึ่งถือว่าซิลิคอนวัลเลย์ของเอเชีย แต่ถ้ามองในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ถือว่ามาเลเซียกำลังเป็นคู่แข่งที่น่ากลัวของประเทศไทย เพราะมีนโยบายภาครัฐสนับสนุนให้เป็นศูนย์กลางทางการศึกษาของภูมิภาคเช่นเดียวกับประเทศไทย

อย่างไรก็ตาม ในภาพรวมการเป็นเรียนต่อต่างประเทศเป็นเรื่องง่ายขึ้นสำหรับคนไทย โดยหลักสูตรที่นิยมเรียนคือ เอ็มบีเอ และไอที ส่วนเทรนด์ของการเรียนในปี 2551 จะเป็นเรื่องเอ็มบีเอ บริหารทรัพยากรมนุษย์ และโลจิสติกส์

เปิดเทรนด์ MBA
ตอบโจทย์ ตรงจุดธุรกิจ

สำหรับในประเทศไทย ดูเหมือนการเลือกเรียน MBA จะได้รับความสนใจเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ สถาบันหลายแห่งเปิดสอนกันอย่างคึกคัก ทั้งนี้เกิดจากทัศนคติที่มองว่า คนที่จบสาขานี้มีโอกาสเติบโตสูง รวมทั้งสามารถตอบสนองต่อตลาดแรงงานได้ดีกว่า เนื่องจาก แม้ว่าผู้ที่จบมาทางด้านเฉพาะทาง เช่น วิศวกรรมศาสตร์หรือแพทย์

หากทำงานไปได้สักระยะหนึ่งจนก้าวเข้าสู่ระดับบริหาร ก็จำเป็นต้องอาศัยความรู้เรื่องการบริหารจัดการซึ่งเดิมทีคนส่วนใหญ่มักจะใช้ประสบการณ์มาใช้ในการบริหาร แต่เป็นวิธีที่ช้าดังนั้นการเรียนต่อจึงเป็นวิธีการที่ย่นเวลาได้มาก

บุริม โอทกานนท์ ประธานสาขาวิชาการตลาด วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า เทรนด์การเปิดหลักสูตรด้าน MBA จะมีลักษณะเฉพาะทางมากขึ้น เพราะแต่ละสถาบันต้องหาจุดเด่นของตัวเอง เพื่อสร้างความแตกต่างให้เกิดขึ้นในอุตสาหกรรมการศึกษา โดยเน้นเจาะจงเป็นรายเซ็กเตอร์ของธุรกิจ

"สมัยก่อนมองว่าสาขาการตลาดเป็นของทุกคน ซึ่งความเป็นจริงในปัจจุบันเราจะสอนการตลาดแบบบุฟเฟ่ต์ไม่ได้ จะมาคาดหวังว่าเรียนการตลาด 1 ปี 8 เดือน แล้วสามารถทำให้นักศึกษาเป็นนักการตลาดที่สมบูรณ์ได้"

ยกตัวอย่างในกรณีของสาขาการตลาด ภาคธุรกิจต้องการคนที่จบมามีความรู้เฉพาะทางในด้านการตลาดโดยเฉพาะ เช่น การตลาดของธุรกิจค้าปลีก ธุรกิจโรงพยาบาล ธุรกิจโลจิสติกส์ และต้องการระบบการศึกษาซึ่งสร้างคนที่สามารถปฏิบัติงานด้านการตลาดได้จริง (execution) ในอุตสาหกรรมนั้นๆ ได้ ไม่ใช่เรียนแค่คอนเซ็ปต์ทางการตลาดเท่านั้น

หรือแม้แต่สาขาการบริหารทรัพยากรมนุษย์ ซึ่งองค์กรธุรกิจต้องการนัก HR ที่ไม่ใช่แค่มองว่าจะสรรหาคนอย่างไร บริหารค่าตอบแทนคนอย่างไร กำหนด competency แบบไหน แต่จะต้องมองว่าจะบริหารจัดการคนที่อยู่ในองค์กรได้อย่างไร โดยนัก HR รุ่นใหม่ต้องเป็นผู้ที่มีความรอบรู้ในเรื่องการจัดการมากพอสมควร และการเรียนในสาขานี้จะขยายตัวตามการเติบโตของบริษัทและอุตสาหกรรม

บุริม กล่าวอีกว่า เทรนด์การศึกษาของ MBA จะมีการสร้างสรรค์หลักสูตรใหม่ๆ ก่อให้เกิด "นวัตกรรมทางหลักสูตร" เช่น หลักสูตรเร่งรัด4 บวก1 (Fast Track) โดยระดับปริญญาตรีเรียนคณะอื่นที่ไม่ใช่บริหาร เช่น วิทยาศาสตร์ พอขึ้นปี 3 และปี4 ก็เริ่มเรียนวิชาของ MBA เมื่อสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีแล้วก็เรียน MBA อีกหนึ่งปี จบแล้วจะได้ปริญญา 2 ใบ 2 ระดับ

หรือหลักสูตร Double Degree คือ การเรียนสองสาขาวิชาที่แตกต่างกัน โดยเอาวิชาเลือกหรือเลือกเสรีมาแลกกัน เมื่อจบแล้วได้ปริญญา 2 ใบ ในระดับเดียวกัน ปริญญาตรีกับปริญญาตรี หรือปริญญาโทกับปริญญาโท

และหลักสูตร Joint Degree คือ หลักสูตรที่ สองมหาวิทยาลัยมาร่วมกันร่างหลักสูตรขึ้นมาร่วมกัน เช่น ศศินทร์ฯ ร่วมมือกับมหาวิทยาลัย Kellog ของอเมริกา เปิดหลักสูตรนานาชาติขึ้นในประเทศไทย

นอกจากนี้ ยังมีเทรนด์เรื่องการควบรวมหลักสูตรอีกด้วย เช่น วิศวกรรมทางการตลาด วิศวกรรมทางการบริหารจัดการ เป็นต้น แต่นวัตกรรมทางหลักสูตรยังไม่เป็นที่แพร่หลายมากนักในประเทศไทย เนื่องจากติดข้อกฎหมายที่ยังไม่สนับสนุนเพียงพอ

ทั้งนี้ ปัจจัยที่มีผลต่อการตัดสินใจเรียน MBA ส่วนใหญ่ผู้เรียนเรียนเพื่อต้องการยกระดับตัวเอง ทั้งระดับความสามารถและตำแหน่งหน้าที่การงาน เพราะจะทำให้สามารถทำงานที่ซับซ้อนได้มากขึ้น มีการตัดสินใจที่ดีขึ้น นอกจากนี้ ชื่อเสียงของสถาบันการศึกษายังคงเป็นปัจจัยอันดับแรกๆ ที่มีผลต่อการเลือกเข้าศึกษาต่อ ซึ่งแสดงถึงความมั่นใจว่าจบแล้วไม่ตกงาน ส่วนเรื่องค่าเรียนไม่ค่อยมีผลต่อการตัดสินใจเรียนเพราะถือว่าการเรียนคือ การลงทุนที่ดีอย่างหนึ่ง เพื่อจะได้เจอสิ่งแวดล้อมใหม่และคอนเนกชั่นที่มากขึ้น

ที่มา : www.manager.co.th

ไม่มีความคิดเห็น: