นายแพทย์วีระพันธ์ สุพรรณไชยมาตย์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลขอนแก่น เปิดเผยถึงการเกิดอุบัติเหตุและการเตรียมพร้อมในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ว่า สถานการณ์การเกิดอุบัติเหตุจราจรทางถนน ประเทศไทยยังครองอันดับ 1 ใน 5 ของโลก ที่เกิดความเสียหาย และสูญเสียทางเศรษฐกิจ จากการเกิดอุบัติเหตุ โดยมีผู้บาดเจ็บจากอุบัติเหตุเฉลี่ยปีละ 6 แสนคน ในจำนวนนี้ 1 แสนคนกลายเป็นคนพิการ และเป็นภาระของรัฐ ส่วนความเสียหายทางเศรษฐกิจนั้น หากคำนวณจากช่วง 10 ปีที่ผ่านมาประเทศไทย มีมูลค่าความเสียหายถึง 2 แสนล้านบาท คิดเป็น 2.8% ของจีดีพี ซึ่งไม่นับคลื่นความทุกข์ ที่เกิดกับญาติ เพื่อนฝูง และคนรอบข้างของเหยื่อที่ประสบอุบัติเหตุ อีกทั้งพื้นฐานของคนไทย ไม่มีสำนึกด้านความปลอดภัย เป็นคนมักง่าย ไม่มีวินัย และเห็นแก่ตัว กลายเป็นรากเหง้าของปัญหาการเกิดอุบัติเหตุ โดยเฉพาะเกิดจากการขับขี่รถจักรยานยนต์ ไม่สวมหมวกนิรภัย
กระทั่งในปี 2547 จึงได้มีการป้องกันและแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุอย่างจริงจัง เริ่มต้นจากมาตรการสวมหมวกนิรภัย เพื่อความปลอดภัยในการขับขี่ จนถูกผลักดันให้เป็นวาระแห่งชาติ โดยมีเครือข่ายความร่วมมือจากหลายหน่วยงานประสานการทำงานเข้าด้วยกัน
“สอจร.ได้ร่วมกันวางยุทธศาสตร์ ซึ่งเรียกว่ายุทธศาสตร์ 5 E ประกอบด้วย
การบังคับใช้กฎหมาย (Enforcement)
ให้การศึกษา (Education)
การช่วยเหลือฉุกเฉิน (Emergency Medical Service)
ด้านวิศวกรรมจราจร (Engineering)
ด้านการมีส่วนร่วม (Empowerment)
และจังหวัดขอนแก่น ก็เป็นต้นแบบของระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉิน ได้ดำเนินการป้องกันและลดอุบิตเหตุทางถนนอย่างต่อเนื่องตามยุทธศาสตร์ 5 หลัก และในปี 2552 จะเพิ่มความเข้มข้นด้านการวิจัยและประเมินผล (Evaluation) ให้มากขึ้น” นายแพทย์วีระพันธ์ กล่าว
ผู้อำนวยการโรงพยาบาลขอนแก่น กล่าวถึง อุบัติเหตุจังหวัดขอนแก่น ว่า การเกิดอุบัติเหตุทางถนนในพื้นที่ นับวันทวีความรุนแรงมากขึ้น ผู้บาดเจ็บเฉลี่ยวันละกว่า 200 คน ตายวันละ 2-3 คน โดยเฉพาะในช่วงเทศกาลต่างๆ อยากให้ทุกคนที่ใช้ถนนร่วมกันอย่างระมัดระวัง เพราะอุบัติเหตุเกิดขึ้นได้ทุกเวลา คนเดินถนนก็ต้องระวังรถ คนขับรถต้องไม่เมาแล้วขับ เพื่อความปลอดภัยของผู้โดยสาร ซึ่งในเทศกาลสงกรานต์ปีที่ผ่านมา มีคนเจ็บเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล ซึ่งได้รับอุบัติเหตุจากการเมาแล้วขับ เป็นคนเดินถนน 9% คนขับรถ 37% ผู้โดยสาร 19% จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่คนใช้รถ ใช้ถนนต้องมีวินัย และปฏิบัติตามกฎจราจร จะทำให้การเกิดอุบัติเหตุทางถนนลดลงได้
ทางด้าน นายแพทย์วิทยา ชาติบัญชาชัย รองผู้อำนวยการโรงพยาบาลขอนแก่น ในฐานะประธานคณะทำงานสนับสนุนการดำเนินงานป้องกันและแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุจราจรทางถนนในระดับจังหวัด (สอจร.) กล่าวว่า
ปัจจุบันคนไทย 1.8 ล้านคน หรือ ร้อยละ 4.1 และ เป็นประเทศที่มีคนติดสุรามากที่สุดในโลก เป็นสิ่งที่น่าห่วงมาก อีกทั้งการใช้รถจักรยานยนต์ก็เพิ่มมากขึ้น ขณะนี้ทั้งประเทศมีการใช้รถจักรยานยนต์ประมาณ 22 ล้านคัน อุบัติเหตุที่เกิดขึ้นบนท้องถนน ก็เกิดจากการใช้รถจักรยานยนต์มากที่สุด รองลงมาคืออุบัติเหตุจากรถยนต์โดยสารสาธารณะ เฉลี่ยเดือนละประมาณ 100 คัน เป็นอุบัติเหตุหมู่ มีทั้งคนเจ็บ พิการ ตาย ซึ่งรถเหล่านี้หลังเกิดอุบัติเหตุมักจะพบว่า ไม่มีถังดับเพลิง ไม่มีฆ้อนทุบกระจก ประตูฉุกเฉินล็อค โดยเฉพาะรถโดยสารสาธารณะสองชั้น การต่อเติมไม่มีความมั่นคงแข็งแรง เมื่อเกิดอุบัติเหตุ ผู้โดยสารที่นั่งอยู่ชั้นสอง จะบาดเจ็บและเสียชีวิตมากที่สุด สอจร. มีเครือข่ายในการทำงานอยู่ในทุกจังหวัด ร่วมกันดำเนินการการป้องกัน และแก้ไข ปัญหาอุบัติเหตุจราจรทางถนน
การใช้มาตรการ 3ม 2ข 1ร การบังคับใช้กฎหมายที่เข้มข้น และการมีส่วนร่วมของสถาบันการศึกษา องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ชุมชน เอาใจใส่กับเรื่องการป้องกันและแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุจราจร เป็นการทำงานแบบบูรณาการงานในแนวราบ เพื่อสร้างการพัฒนาอย่างยั่งยืน ซึ่งผลที่เห็นก็คือความเสียหายลดลงชัดเจนความพร้อมรับมืออุบัติเหตุทางถนนในช่วงเทศกาล
นายแพทย์วิทยา กล่าวว่า โรงพยาบาลขอนแก่นพร้อมอยู่แล้ว อย่างไรก็ตาม อยากให้ประชาชนผู้ใช้รถใช้ถนนทุกคนทราบว่า หากเกิดอุบัติเหตุ จนมีผู้ป่วยวิกฤติฉุกเฉิน ขอให้นึกถึงการแจ้งเหตุกับทีมกู้ชีพ คือ 1669 ซึ่งขณะนี้มีหน่วยกู้ชีพระดับสูง 43 หน่วย ระดับพื้นฐาน 115 หน่วยขององค์กรปกครองท้องถิ่นกระจายทั่วทั้งจังหวัด มีบุคลากร 5 ระดับ ดูแลผู้ป่วย ณ จุดเกิดเหตุทั้งสิ้น 3,241 คน มีรถพยาบาลที่ขึ้นทะเบียนทั้งสิ้น 225 คัน เพราะการใช้ทีมกู้ที่ได้มาตรฐานจะทำให้ผู้ป่วยมีโอกาสรอดจากความพิการและการเสียชีวิตได้สูง ซึ่งเป็นกระบวนการรักษาขั้นต้นก่อนถึงโรงพยาบาล นอกจากนี้ทางโรงพยาบาล มีลานเฮลิคอปเตอร์อยู่ชั้นบนของตึกอุบัติเหตุ-ฉุกเฉิน เตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์กับผู้ป่วยฉุกเฉิน ซึ่งสามารถปฏิบัติการรักษาได้ทันที นอกจากนี้โรงพยาบาลขอนแก่น กำลังดำเนินโครงการ “โรงพยาบาลปลอดอุบัติเหตุ” โดยเจ้าหน้าที่จะคอยให้ความรู้ ด้านการป้องกันอุบัติเหตุ ให้กับผู้ป่วยนอกที่รอการรักษาพยาบาล ญาติผู้ป่วยที่มานั่งรอ และบุคคลอื่นๆ ที่เข้ามาใช้บริการของโรงพยาบาล เป็นการรณรงค์ป้องกันอุบัติเหตุอีกทางหนึ่ง
ที่มา : ไทยรัฐออนไลน์
6 เทคโนโลยีระดับโลก ที่ถูก "แบน"
13 ปีที่ผ่านมา
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น