ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (20 มี.ค.) ที่โรงแรมมิราเคิล ศูนย์วิจัยและฝึกอบรมด้านสิ่งแวดล้อม กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จัดสัมนาวิชาการเรื่องทิศทางการวิจัยกับการแก้ไขวิกฤติสิ่งแวดล้อม โดย นาง เดซี่ หมอกน้อย นักวิจัยด้านอากาศ จากศูนย์วิจัยและฝึกอบรมด้านสิ่งแวดล้อม นำเสนอผลงานวิจัยปริมาณการแพร่กระจายของสารประกอบคาร์บอนิลในอากาศในเขตกรุงเทพมหานคร ระหว่างปี 2549 - 2551 ว่า ภายหลังรัฐบาลมีนโยบายส่งเสริมให้ประชาชนใช้น้ำมันแก๊สโซฮอล์ เนื่องจากราคาถูกกว่าน้ำมันเบนซินและดีเซลเฉลี่ย 5-10 บาทต่อลิตรและเตรียมเพิ่มสัดส่วนปริมาณเอทานอลให้มากขึ้นจากเดิมที่กำหนด 15% เป็น 85% ทำให้คาดการณ์ว่าจะส่งผลให้สารพิษกลุ่มคาร์บอนิล ซึ่งเป็นสารก่อมะเร็งและอยู่ในกลุ่มสารอินทรีย์ระเหยง่ายในบรรยากาศ มีแนวโน้มสูงขึ้นตามมาด้วย
นางเดซี่ กล่าวว่า เมื่อทำการวิจัย และเก็บตัวอย่างสารกลุ่มคาร์บอนิล แบบใช้ปั๊มดูดอากาศครอบคลุมพื้นที่ริมถนน 49 จุดในเขตกรุงเทพมหานคร ที่มีการจราจรหนาแน่น ก็พบค่าความเข้มข้นของสารกลุ่มคาร์บอนิล 10 ชนิด อาทิ ฟอร์มัลดีไฮด์ อะเซทัลดีไฮด์ อะซีโตน อะโครรีน มีความเข้มข้นแตกต่างกันไป ที่น่าตกใจ คือ พบระดับค่าความเข้มข้นของฟอร์มัลดีไฮด์ และอะเซทัลดีไฮด์ มีความเข้มข้นเกินมาตรฐานเฝ้าระวังที่หน่วยงานประเมินด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของสหรัฐอเมริกาประเมินความเสี่ยงของคนที่รับสารชนิดนี้เพียง 1.23 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรจำนวน 40 ต่อ 1 ล้านคน มีโอกาสเป็นมะเร็ง
นางเดซี่ กล่าวต่อไปว่า ขณะที่บริเวณริมถนนของอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ถนนพระราม 5 รัชดาภิเษก สุขุมวิท และดอน เมืองมีค่าความเข้มข้นของสารฟอร์มัลดีไฮด์ 10.6 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร สูงเกินระดับความเสี่ยงของสหรัฐอเมริกา 5 เท่า และสูงกว่าเมืองโอซาก้าของญี่ปุ่น และเมืองออนทาริโอของแคนาดา 3-5 เท่า ค่าความเข้มข้นของ สารอะเซทัลดีไฮด์อยู่ในช่วง 3.31 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรจากมาตรฐานของอเมริกา 2.2 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรและถือว่ามีค่าความเข้มมากกว่าเช่นกัน
นางเดซี่ กล่าวอีกว่า ส่วนสาเหตุที่ทำให้แก๊สโซฮอล์มีสารมลพิษดังกล่าว มาจากกระบวนการเผาไหม้ที่ไม่สมบูรณ์ เมื่อรถยนต์ปล่อยสารมลพิษออกมาแล้วเจอกับแสงในบรรยากาศ จะส่งผลให้สารมลพิษตัวอื่นๆเพิ่มมากขึ้น โดยจะเห็นว่ากรุงเทพมหานคร ตรวจพบโอโซนในบรรยากาศสูงขึ้น รวมทั้งฝุ่นละอองขนาดเล็กที่มีผลต่อสุขภาพมีแนวโน้มสูงขึ้น
“ช่วง 2-3 ปีในพื้นที่ริมถนนที่มีการจรจรหนาแน่น โดยเฉพาะตอนกลางวันควรหลีกเลี่ยงการเข้าไปในเขตที่มีการจราจรคับคั่ง กรมควบคุมมลพิษได้ออกมาตรฐานค่าเฝ้าระวังสารอินทรีย์ระเหยง่ายในบรรยากาศรวม 9 ชนิด อาทิ สารเบนซิน แต่สำหรับสารฟอร์มัลดีไฮด์ และสารอะเซทัลดีไฮด์ ยังไม่มีการกำหนดมาตรฐาน แต่แนวโน้มการใช้ก๊าซโซฮอล์ที่มีปริมาณ 5 ล้านลิตรต่อวัน ก็ควรต้องเร่งพิจารณาออกมาตรฐาน”นางเดซี่ กล่าว
ด้านนายสุพัฒน์ หวังวงศ์วัฒนา อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ กล่าวว่า มลพิษหลักเป็นฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 10 ไมครอน โดยเฉพาะใน ต.หน้าพระลาน จ.สระบุรี และพื้นที่ จ. ราชบุรี สมุทรปราการ ลำปาง พระนครศรีอยุธยา เชียงใหม่ และนครราชสีมา ส่วนกรุงเทพมหานคร ฝุ่นริมถนนค่าเฉลี่ย 24 ชั่วโมง ตรวจวัดได้ 8.1-205.4 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร เกินมาตรฐาน 3.3% ลดลงจากปี 2550 ที่ตรวจวัดได้ในช่วง 9.8-242.7 มคก./ลบ.ม. หรือ 4.7%
อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ กล่าวต่อไปว่า สำหรับพื้นที่ที่ยังมีปัญหาคือ ถนนดินแดง พระราม 6 พระราม 4 ราชปรารภ พิษณุโลก สุขุมวิท เยาวราช สามเสน สุขาภิบาล 1 นอกจากนี้ยังมีปัญหามลพิษทางอากาศจากก๊าซโอโซนที่เกินมาตรฐานเป็นครั้งคราว ในกรุงเทพมหานคร นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรสาคร สมุทรปราการ ราชบุรี แนวโน้มปัญหาก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์จะกลับมาเป็นมลพิษอันดับต้นๆในพื้นที่กรุงเทพมหานครหลังจากที่ปี 2548-2549 มลพิษดังกล่าวไม่เคยพบเกินมาตรฐาน แต่ระหว่างปี 2550-2551 ตรวจพบเกินมาตรฐานที่กำหนดไว้ โดยเฉพาะในเขตที่มีการจราจรหนาแน่นมาก อาทิ พื้นที่ดินแดง
อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ กล่าวอีกว่า ทั้งนี้สาเหตุหลักมาจากรถเก่าซึ่งส่วนหนึ่งไม่ได้รับการดูแลรักษาเครื่องยนต์และนำรถไปติดตั้งแก๊สเป็นเชื้อเพลิง ทั้งที่ส่วนใหญ่เข้าใจว่าจะลดมลพิษ แต่จากการสุ่มตรวจพบว่ากลับมีมลพิษตัวนี้ออกมาในปริมาณสูงมาก ปัญหาน่าจะมาจากการติดตั้งระบบแก๊สในส่วนควบคุมการจ่ายแก๊สไม่มีประสิทธิภาพ ที่ผ่านมาจะเน้นความปลอดภัยเป็นหลัก แต่ไม่คำนึงถึงมลพิษ เมื่อ 2 สัปดาห์ก่อนได้ประสานไปยังกระทรวงพลังงาน กระทรวงคมนาคม และกรมการขนส่งทางบกให้ตรวจสอบการระบายมลพิษจากการติดตั้งแก๊สด้วย เพราะถ้าไม่ควบคุม จะทำให้มลพิษในกรุงเทพมหานครน่าเป็นห่วงยิ่งขึ้น
ที่มา : ไทยรัฐออนไลน์
6 เทคโนโลยีระดับโลก ที่ถูก "แบน"
14 ปีที่ผ่านมา
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น