7 สุขนิสัยที่ต้องเข้าใจให้ถูก
คนสมัยนี้ได้รับความรู้เรื่องสุขนิสัย สุขบัญญัติจากโรงเรียน จากสื่อ จากเพื่อนร่วมงาน ร่วมก๊วนกอล์ฟ ก๊วนเทนนิส ก๊วนซิ่ง และจากคนข้างบ้าน
พล.ต.ต.นพ.นริศ เจนวิริยะ ศัลยแพทย์
คนส่วนมากไม่ว่าจะเป็นไทย จีน ญี่ปุ่น แขก ฝรั่ง ต่างก็มีความโน้มเอียงจะเชื่อการโฆษณาประชาสัมพันธ์กันทั้งนั้น ทำให้มีมิจฉาทิฐิในเรื่องต่างๆ มากมายโดยเฉพาะเรื่องสุขภาพ เพราะทุกคนสนใจอยากจะมีสุขภาพดีมีความสุขมากๆ ตลอดไป ลองคิดดูว่าท่านมีมิจฉาทิฐิต่อไปนี้บ้างหรือไม่?
Q: ล้างมือด้วยสบู่ยาดีไหม?
A: การล้างมือเป็นสุขนิสัยที่ดีอย่างหนึ่ง เนื่องจากการติดเชื้อทางมือเป็นสาเหตุสำคัญมากอย่างหนึ่งของการเจ็บป่วย เช่น การติดโรคหวัด แผลผ่าตัดเป็นหนอง โรคท้องร่วงจากอาหาร ฯลฯ การล้างมือที่ถูกหลักเกณฑ์จึงเป็นวิธีการป้องกันการติดเชื้อทางมือที่ดีอย่างหนึ่ง หลายคนจึงมีความคิดต่อไปว่าการล้างมือด้วยสบู่ยาฆ่าเชื้อจึงเป็นสิ่งที่ดีกว่าการล้างด้วยสบู่ธรรมดา แต่ปรากฏจากข้อมูลของกรมควบคุมและป้องกันโรคของสหรัฐอเมริกาว่าการใช้สบู่ยาฆ่าเชื้อที่มีขายในท้องตลาดไม่ได้ดีกว่าสบู่ธรรมดาเลย แถมยังฆ่าได้เฉพาะเชื้อโรคอ่อนๆ ปล่อยให้ตัวร้ายๆ แพร่พันธุ์ต่อไป เขาพบว่าการล้างมือที่ได้ผลดีและทำง่าย คือ การใช้แอลกอฮอล์ 70% (alcohol handrub ซึ่งผสมสารถนอมผิวด้วย) ซึ่งสามารถฆ่าเชื้อได้มากมายกว้างขวาง เขาว่าแทบจะไม่มีเชื้อดื้อต่อมันเลย แต่อย่างไรก็ตามถ้าไม่มีสารอะไรช่วยเลย การใช้น้ำก๊อกธรรมดาล้างมือก่อนกินอาหารก็ยังดีกว่าไม่ได้ล้าง
Q: กินอาหารไขมันต่ำดีจริงไหม?
A: หลายคนคงเคยได้ยินได้อ่านมาว่าการกินอาหารไขมันต่ำช่วยลดน้ำหนัก บางคนจึงกินอาหารไขมันต่ำมาตลอด โดยไม่มีความเข้าใจเรื่องโภชนาการอย่างครบถ้วน ความอ้วนเกิดจากการกินอาหารมาก ออกกำลังน้อย การกินอาหารมาก หมายถึงการกินแคลอรีมาก แคลอรีไม่ได้มาจากไขมันอย่างเดียว อาหารเกือบทุกอย่างมีแคลอรี การลดไขมันต่ำมากๆ แต่ยังกินแป้งและน้ำตาลมากเกินก็ย่อมทำให้เกิดการสะสมและเปลี่ยนแปลงไปเป็นไขมันพอกพูนในร่างกาย เคยมีการศึกษาติดตามพยาบาลจำนวนหลายพันคนที่สหรัฐอเมริกาเป็นเวลา 8 ปี โดยให้กินอาหารไขมันต่ำเปรียบเทียบกับการกินอาหารธรรมดา เมื่อเสร็จการศึกษาติดตามเขาสรุปว่าการกินอาหารไขมันต่ำหรืออาหารที่ไม่มีไขมันเลย ไม่ได้ช่วยลดน้ำหนัก (ทั้งนี้อาจจะเป็นเพราะกินอาหารอย่างอื่นมากเกินไปและออกกำลังกายน้อยกว่าที่ควร) ไขมันทำให้อาหารมีรสชาติดีขึ้น กินอร่อยขึ้น และไขมันบางอย่างไม่มีผลเสียมาก (ยกเว้นแคลอรีสูง) เช่น น้ำมันมะกอก ถ้าเอาไปปรุงอาหารหรือใช้ราดสลัดจะทำให้กินสลัดได้อร่อยขึ้น กินผักได้บ่อยขึ้นมีผลดีต่อสุขภาพ สิ่งสำคัญคือต้องรู้ว่าน้ำมันพืชชนิดไหนดีต่อสุขภาพ ควรละเว้นน้ำมันพืชที่ก่อให้เกิดโคเลสเตอรอลซึ่งทำให้เกิดโรคหลอดเลือดตีบตัน เช่น น้ำมันมะพร้าว น้ำมันปาล์ม น้ำมันจากสัตว์ และควรคำนึงถึงมวลรวมของแคลอรีจากอาหารที่กินทั้งหมด แล้วควบคุมให้อยู่ในพิกัด เขาว่าไม่ควรกินน้ำมันเกิน 30% ของแคลอรีจากอาหารทั้งหมด
Q: กินแครอทแล้วสายตาดีจริงหรือไม่?
A: แครอทมีวิตามินเอสูง และวิตามินเอมีส่วนทำให้การมองเห็นเป็นปกติ แต่ร่างกายต้องการวิตามินเอเพื่อการมองเห็นปกติจำนวนน้อยๆ เท่านั้น ไม่ควรเชื่อว่าการกินแครอทเพื่อจะได้รับวิตามินเอจำนวนมาก จะช่วยให้สายตาดีขึ้นกว่าปกติ หรือเพื่อจะได้ไม่ต้องใส่แว่นสายตา ที่จริงแล้วการกินวิตามินเอ (ที่ทำเป็นยาเม็ด) จำนวนมากๆ อาจจะเป็นพิษ ความเชื่อเรื่องกินแครอทแล้วสายตาดีมีมาตั้งแต่สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 สมัยนั้นวงการสืบราชการลับอังกฤษแกล้งปล่อยข่าวให้ไปเข้าหูศัตรูในตอนที่กองทัพอากาศเยอรมันโหมทิ้งระเบิดเกาะอังกฤษว่า การที่นักบินอังกฤษสามารถมองเห็นเครื่องบินเยอรมันในเวลากลางคืนเนื่องจากนักบินอังกฤษกินแครอทมากทำให้สายตาดี ทั้งนี้เพื่อปกปิดความจริงที่ว่ากองทัพอังกฤษสามารถสร้างระบบเรดาร์ที่มีประสิทธิภาพมากขึ้นมาได้ ทำให้เห็นเครื่องบินเยอรมันได้ดีขึ้น
Q: สารต้านอนุมูลอิสระดีจริงหรือ?
A: ปัจจุบันมีการพูดถึงทฤษฎีอนุมูลอิสระกันมาก อ้างว่าอนุมูลอิสระมีผลเสียต่อสุขภาพ ดังนั้นสารต้านอนุมูลอิสระจึงมีผลดีในการชะลอความแก่ ป้องกันโรคหัวใจ ป้องกันมะเร็ง ฯลฯ แต่เมื่อมีการผลิตยาเม็ดอนุมูลอิสระขึ้นมา และคนใช้มากขึ้นๆ ปรากฏว่าไม่ได้ผลดีดังหวัง มีการศึกษามากมายที่แสดงให้เห็นว่ามีคนกินสารเสริมต้านอนุมูลอิสระไม่ได้รับผลดีแต่ประการใด และบางการศึกษาแสดงให้เห็นว่าการกินสารต้านอนุมูลอิสระทำให้เกิดผลเสียต่อสุขภาพ การศึกษาของสถาบันมะเร็งสหรัฐฯ ในปี ค.ศ.1992 ต้องยุติลงก่อนกาลหลังจากนักวิจัยพบว่าคนที่กินสารต้านอนุมูลอิสระเกิดมะเร็งปอดมากกว่าคนกินยาหลอก จนถึงปัจจุบันนี้ทฤษฎีอนุมูลอิสระยังไม่ได้รับการพิสูจน์ว่าจริงหรือไม่
Q: ดื่มน้ำวันละ 8 แก้วเพื่อสุขภาพ จำเป็นไหม?
A: นักวิชาการหลายคนพูดถึงเขียนถึงกันมากว่าควรกินน้ำวันละ 8 แก้วเพื่อสุขภาพ เนื่องจากน้ำเข้าไปล้างพิษในร่างกาย แต่ที่จริงแล้วไม่มีความจำเป็นอย่างนั้นเลย สำหรับคนบางคนการกินน้ำมากอย่างนั้นอาจจะมีผลเสีย เพราะดื่มน้ำเข้าไปมากอาจจะไปทำให้เป็นพิษ ทำให้ระดับโซเดียมต่ำเป็นอันตราย ในปี ค.ศ.2002 หมอผู้เชี่ยวชาญทางโรคไตได้พยายามอย่างมากในการค้นคว้าหาข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ที่มีอยู่ เพื่อดูว่ามีข้อมูลสนับสนุนการดื่มน้ำวันละ 8 แก้วมีจริงหรือเปล่า และต้นตอของเรื่องนี้มันมาจากไหน แล้วตีพิมพ์บทความใน American Journal of Physiology ปรากฏว่าไม่มีข้อมูลทางวิทยาศาสตร์สนับสนุนความหลงผิดนี้เลย จริงอยู่แม้ว่าคณะอนุกรรมการโภชนาการของคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติสหรัฐอเมริกาจะแนะนำว่า ร่างกายเราต้องการน้ำ 1 ลบ.ซม. ต่ออาหารที่เรากินเข้าไป 1 แคลอรี คนทั่วไป จึงต้องการน้ำประมาณ 10 แก้ว แต่น้ำส่วนใหญ่มีอยู่ในอาหารที่เรากินเข้าไปอยู่แล้ว ไม่ต้องไปดื่มเพิ่ม การหลงผิดดื่มน้ำมากเกินไปอาจจะเกิดปัญหา เช่น นักมวยดื่มน้ำมาก กระเพาะปัสสาวะป่องขณะต่อย เขาไม่อนุญาตให้ไปเข้าห้องน้ำระหว่างยกเหมือนนักเทนนิส นักมวยคนนั้นอาจจะเป็นอันตรายจากการถูกต่อยกระเพาะปัสสาวะแตกก็เป็นได้ ความหลงผิดเรื่องล้างพิษอาจจะมีพิษภัยมาก
Q: ครีมกันแดดต้านมะเร็งได้ไหม?
A: ครีมกันแดดส่วนมากต้านมะเร็งไม่ได้ผลดี เนื่องจากใช้กันผิดๆ หมอฟรานซิสกา ฟุสโก โฆษกของมูลนิธิโรคมะเร็งผิวหนังสหรัฐอเมริกา กล่าวว่าคนส่วนมากใช้ครีมกันแดดไม่มากพอ ใช้ไม่สม่ำเสมอ ไม่ได้ใช้ตั้งแต่อายุน้อย และไม่ได้ใช้ครีมกันแดดที่มีประสิทธิภาพเพียงพอ เขาแนะนำว่าควรใช้ครีมใต้เมคอัพ ควรทาให้ทั่วตัว ควรทาในร่มผ้าด้วย และควรรอเวลาประมาณ 30 นาทีหลังทาก่อนจะไปโดนแดด ควรใช้ครีมชนิดที่สาร mexoryl ซึ่งป้องกันทั้งรังสีอัลตราไวโอเล็ตชนิด บี และ เอ (UV B และ UV A) ครีมส่วนใหญ่ที่ใช้ๆ กันป้องกันได้แต่อัลตราไวโอเล็ตชนิดบี แต่ชนิดเอก็อันตรายเช่นกันโดยที่ไม่ทำให้ผิวไหม้แดด คนทั่วไปจึงไม่รู้ เขาว่าถ้าจะใช้ครีมกันแดดป้องกันมะเร็งต้องใช้ให้ถูกนะครับ
Q: อาหารเสริม สมุนไพรธรรมชาติ
A: บริษัทผลิตสารเสริมอาหารทั้งในไทยและเทศชอบโฆษณาว่า อาหารเสริมของเขาเป็น สมุนไพร หรือ ธรรมชาติ นัยว่าเป็นสิ่งที่ปลอดภัยและมีประโยชน์สูง คนส่วนมากก็เชื่อผิดๆ อย่างนั้น แต่ที่จริงแล้วสิ่งที่เป็นสมุนไพรหรือธรรมชาติอาจจะมีอันตรายมาก เครือข่ายสุขภาพแห่งชาติของแคนาดาได้รณรงค์ให้การศึกษาแก่ประชาชนของเขาในเรื่องนี้ เขาสอนว่าสารธรรมชาติบางอย่างอาจจะเป็นพิษถ้าบริโภคมากไป บางอย่างอาจจะทำให้แพ้ บางอย่างอาจจะเข้าไปมีปฏิกิริยากับยาที่กินอยู่ทำให้เกิดผลเสีย บางอย่างอาจจะมีผลเสีย เช่น ต่อคนตั้งครรภ์หรือคนที่เป็นโรคหัวใจ ฉลากข้างกล่องบรรจุภัณฑ์สารเสริมอาหารได้รับการตรวจสอบ แต่ที่สหรัฐฯ ไม่ได้ตรวจสอบเข้มงวด คิดว่าในเมืองไทยก็คงจะไม่มีเจ้าหน้าที่เพียงพอในการตรวจสอบเนื่องจากไม่ใช่ยาจึงไม่เข้มงวดมาก ผู้บริโภคก็คงต้องตัวใครตัวมันว่างั้นเถอะ!
ในยุคสมัยน้ำมันแพงค่าแรงถูก เงินเดือนต่ำ คนธรรมดาอย่างเราต้องอาศัยปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ประหยัดและอดออม อย่ายอมตัวเป็นเหยื่อโฆษณา รักษาเงินที่หายากเอาไว้ให้นานที่สุด
ที่มาข้อมูล : นิตยสาร Health Today